เบื้องหลังวงการ ‘Cosplay’ มีหลายมิติที่คนนอกวงการแทบจะไม่รู้ และเราเองก็อาจจะยังรู้เพียงผิวเผิน ถ้าไม่มีโอกาสได้ต่อสายคุยกับ ‘เชอร์รี่’ Cosplayer (คำเรียกผู้ที่แต่งคอสเพลย์) ซึ่งอยู่ในวงการมาหลายปี ว่าจริงๆ วงการนี้ไม่ได้มีแค่การแต่งตัวให้เหมือน หรือสวมบทบาทตามคาแรกเตอร์ตัวละครญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่สิ่งที่คอสเพลย์เยอร์ โดยเฉพาะเพศสภาพหญิงต้องฝ่าฟัน คือการถูกมองเป็นวัตถุสนองอารมณ์ทางเพศ ที่ดูเหมือนจะไม่แฟร์ และใจร้ายกับพวกเธอไปมาก
หนึ่ง ถูกคาดหวังให้สวยเป๊ะ ผิวขาวนวล ไร้รูขุมขน เหมือนตัวการ์ตูน…สวยโดนชม ไม่สวยโดนด่า
สอง นอกจากหน้าเป๊ะแล้ว หุ่นก็ต้องเป๊ะตามมาตรฐานความงาม ใครในรูปผอมเพรียว แต่ตัวจริงอวบอั๋น บางครั้งก็เตรียมโดนแฉว่าปลอม จนลืมไปว่า นี่คือมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่การ์ตูน
สาม ถ้าแต่งตัวเซ็กซี่ เห็นส่วนเว้า ส่วนโค้งเมื่อไหร่ พวก Abuser ก็จ้องจะพิมพ์คำลามก หรือโพสต์มีมที่สื่อไปทางคุกคามทางเพศใส่ และอ้างว่า ก็แต่งโป๊มาโชว์เองนี่
สี่ แน่นอน Sexual Harassment ไม่ได้จบแค่ในโซเชียล แต่ในชีวิตจริง คอสเพลย์เยอร์หญิงที่แต่งตัวไปออกงาน โดนแอบถ่าย ซูมหน้าอก เข้ามาประชิดตัวจนทำให้อึดอัด และหวาดกลัว หรือมีไปถึงการหลอกล่อเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ
มองจากแว่นตาที่เชอร์รี่สวมใส่ เธอคิดว่า ต้นตอปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อนิเมะญี่ปุ่นใส่ฉากเซอร์วิสทางเพศอย่างไร้เหตุผล ใส่ภาพเหมารวมผู้หญิงว่าต้องออกแนวเขินๆ เวลาถูกล่วงละเมิด ทั้งที่ชีวิตจริง คนที่ไม่ได้ยินยอมคงไม่มานั่งรู้สึกดีอะไร และรวมไปถึงการแยกแยะชีวิตจริงกับอนิเมะไม่ได้ ที่ถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองทำเรื่องแย่ๆ กับคนแต่งคอสเพลย์ ที่พวกเขาคิดว่า นี่คือตัวละคร จะทำอะไรก็ได้
ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราขอแนะนำให้คุณได้ลองอ่าน ความเท่าเทียมทางเพศที่ควรจะเกิดในวงการคอสเพลย์เช่นกัน
ชื่อเชอร์รี่ (นามสมมติ) ตอนนี้อาชีพหลักคือกราฟิกดีไซเนอร์ และวิดีโอครีเอเตอร์ ส่วนอาชีพเสริมคือขายรูปเชกิ (รูปคอสเพลย์) และมีธุรกิจปล่อยเช่าชุดคอสเพลย์ค่ะ
ความหมายสากลของคำว่า Cosplay คือ Costume + Play = การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นตัวละคร 2D อย่างเดียวก็ได้ มันรวมไปถึงพวกหนัง นิยาย วงดนตรี หรืออะไรๆ ก็ตามที่สามารถแต่งตัวเลียนแบบได้ และอีกความหมายหนึ่งตามที่เราเข้าใจคือ Costume + Roleplay = การแต่งตัวเป็นการ์ตูน และเลียนแบบท่าทางของตัวละคร 2D ให้ออกมาเป็นคน โดยเริ่มจากการรักตัวละครนั้นๆ และคอสเพลย์ออกมา เพราะอยากเห็นว่าถ้ามันมีชีวิตจะเป็นยังไงบ้าง หรือบางคนก็อยากจะเป็นเหมือนตัวละครนี้ในเวอร์ชันของตัวเอง ซึ่งสมัย 10 ปีที่แล้ว ตัวแรกๆ ที่เราคอสฯ คือตัวละครที่เรารักจากมังงะเรื่อง Zone-00
การคอสเพลย์ เป็นงานอดิเรกที่ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการแต่งหน้า แต่งตัว สนุกกับการได้เป็นตัวละครที่เราชอบ สนุกกับการแปลงร่างเป็นใครอีกคน มันทำให้เราสามารถได้ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริง เช่น การใส่วิกทรงแปลกๆ การได้ใส่ชุดอลังการ ชุดในเกม ชุดเจ้าหญิง ได้เห็นตัวเองในเวอร์ชันอื่น มันเป็นความสนุกที่หาไม่ได้ในกิจกรรมอื่นๆ เท่าไร เวลามองดูตัวเองในกระจก แล้วเรากลายเป็นการ์ตูนที่เราชอบ ก็เหมือนเติมเต็มบางอย่างในชีวิตที่มากกว่าการใช้ชีวิตไปวันๆ แบบที่ตื่น กิน นอน หรือไปทำงาน
เปลี่ยนไปมาก เราแต่งคอสฯ ครั้งแรกช่วงมอต้น และตอนมอปลายเราเรียนสายญี่ปุ่น แล้วก็อยากลองแต่งประกวดดู ก่อนจะมาหยุดแต่งไปพักหนึ่งช่วงมหาลัย เพราะกลัวเพื่อนมองว่าแปลก บวกกับทุนทรัพย์ต่างๆ แต่พอเรียนจบ เริ่มมีรายได้จากงาน เราก็กลับมาคอสฯ เต็มตัว เพื่อเติมเต็มความสุขให้ชีวิต
ที่เราชอบคอสฯ เพราะว่าเราอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาตั้งแต่ประถม และทำความรู้จักคอสเพลย์มาตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้เห็นว่าวงการคอสเพลย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนตอนนี้ ไม่ได้เข้าถึงง่ายเหมือนปัจจุบัน มันค่อนข้างจะเฉพาะกลุ่มมาก การที่จะติดต่อหาเพื่อนในชุมชนคอสเพลย์ก็ไม่ง่าย ต้องเข้าไปตามเว็บ Exteen เว็บบล็อก เว็บบอร์ดต่างๆ หรืออ่านแมกกาซีนญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูน ที่มีลงคอลัมน์คอสเพลย์อยู่เล็กๆ มันเลยเป็นสังคมที่แคบมากในวันที่โซเชียลไม่ได้เข้าถึงง่ายขนาดนั้น
ทัศนคติของสังคมก็เช่นกัน เมื่อก่อน คนมองในแง่ลบ คิดว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก ไร้สาระ คนที่คลั่งไคล้การ์ตูนมากๆ หรือว่าชอบจนมีของเก็บสะสม เขาจะมองว่าแปลก ตัวเราเองก็เคยหยุดคอสฯ ไปช่วงมหาลัย เพราะกลัวเพื่อนไม่เข้าใจ แต่ดูตอนนี้สิ คนมองการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นเรื่องแมสมากในไทย จนหลายคน ภาคภูมิใจในสไตล์การแต่งตัวที่หยิบเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาใส่สนุกๆ และสื่อก็เอาโควตการ์ตูนญี่ปุ่นมาทำคอนเทนต์เยอะแยะ บางคนก็เอาคอสเพลย์มาผูกกับธุรกิจเพื่อดึงลูกค้าเข้ามา จึงทำให้มุมของวงการคอสเพลย์เปลี่ยนไปด้วยโดยปริยาย
ทำให้จากที่คอสเพลย์เป็นสิ่งที่เข้าถึงยากมากๆ ไม่มีร้านให้เช่าชุด ทุกคนต้องหาทางตัดชุดเอง หาวิกจากสำเพ็งมาเซตกันเอง ปัจจุบันก็มีร้านรับเซตผม ร้านเช่าชุดกันมากขึ้นเยอะ
สุดท้าย แม้ว่าสังคมจะไม่ได้มองมันว่าแปลกแล้ว แต่คนแต่งคอสเพลย์ โดยเฉพาะเพศสภาพหญิง ยังถูกอคติมากมายเวลาจะแต่งตัวแต่ละที ชี้นิ้วว่าแบบนี้ควรทำ แบบนี้ไม่ควรทำจากมุมมองของผู้ชายบางคน และผู้หญิงบางคนที่เหยียดผู้หญิงด้วยกัน คือถ้าเราดูไม่เหมือนตัวการ์ตูนก็เตรียมพร้อมโดนสาป
วงการนี้เชิดชู Beauty Standard แบบสูงมากๆ สูงสุดๆ (เน้นเสียง) สมมติว่า คุณน้ำหนักเกินตัวละคร ก็ถูกด่าแล้ว ขณะที่โลกกำลังรณรงค์เรื่องรูปร่างของผู้หญิงว่ามันมีหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ผอม ตัวเล็ก แต่วงการคอสฯ ก็พยายามบอกว่าเราต้องถีบตัวเองให้ผอม ให้ขาว ให้หน้าใส ให้เหมือนตัวละครที่สุด ทั้งๆ ที่การแต่งคอสเพลย์ควรจะเป็นงานอดิเรกที่คนแต่งแค่อยากแต่งตัวเหมือนตัวการ์ตูนไหม
เข้าใจว่าหลายคนคาดหวังให้คนแต่งคอสเพลย์รูปร่าง หน้าตา เพอร์เฟกต์แบบตัวการ์ตูน ห้ามมีพุง ห้ามมีขน จมูกต้องโด่ง แต่ก็อย่าลืมเลยค่ะ ว่าพวกเรายังเป็นมนุษย์ ไม่ได้มีหน้าไร้รูขุมขน หรือสัดส่วนแบบนั้นได้ง่ายขนาดนั้น ที่สำคัญเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถมีจุดบกพร่องได้
สมัยก่อนเราไม่ค่อยแต่งรูป ปรับสีนิดหน่อย แล้วก็ลงเลย แต่พอมาคอสเพลย์เราต้องการให้ทุกอย่างมันเป๊ะตามตัวละคร กลายเป็นว่าเราต้องมานั่งเก็บทุกรายละเอียดของภาพ มันเป็นสิ่งที่แบบ ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง เวลาหันมามองตัวเองในชีวิตจริง เรามองร่างกายเดิมน่าเกลียด ทำไมหน้าไม่เรียบเนียนเลยวะ ทำไมจมูกไม่โด่งเหมือนในรูป ทำไมหน้าไม่เรียวเล็ก
ช่วงหนึ่งนอยด์ แต่ดีขึ้นได้ เพราะเราก็พยายาม Empower ตัวเอง คิดมันในแง่ดี ว่าการดูแลตัวเองมากขึ้น ก็ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองได้ในแง่หนึ่ง และการที่เราแต่งคอสเพลย์อยู่ตอนนี้ เราทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อสายตาคนอื่น จุดนั้นเราเป็นตัวละคร แต่ชีวิตจริงเราเป็นเรา มันก็พอแล้ว
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะลุกขึ้นมามั่นใจในตัวเองได้จากคำด่า น้องที่เรารู้จัก เขาค่อนข้างเจ้าเนื้อ น้ำหนักเกินมาตรฐาน แล้วมาแต่งคอสฯ สิ่งที่ได้รับคือโดนถล่มจากทั้งคนไทย และคนต่างชาติว่า ตัวละครนี้ไม่ได้อ้วนขนาดนั้น คนในวงการคอสฯ ก็ต้องให้กำลังใจกันและกัน ว่าน่ารักแล้ว นุ่มนิ่มน่ารักจะตาย
ยิ่งในวงการคอสเพลย์ จะมีพวกเว็บโม่ง อารมณ์เหมือนกระทู้พันทิป ที่ทุกคนสามารถตั้งกระทู้ขึ้นมา โดยไม่ระบุตัวตน และเมื่อไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร ก็พ่นคำแย่ๆ แบบไหนใส่ใครก็ได้ ซึ่งคนแต่งคอสฯ เจอแต่คำรุนแรง ทั้ง อีนี่แต่งรูปปลอมมาก หน้าปลอม ไม่สวย มาแต่งทำไม จะอ้วก เคยเห็นอีนี่ที่งาน นมย้อยมาก ยิ่งคนผิวดำก็จะโดนด่าแซะบ่อยๆ ว่าตัวละครนี้ไม่ดำ ซึ่งมันรุนแรง และสะเทือนใจ เขาไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้เป็นตัวละครนั้นได้จริงๆ เราไม่สามารถกลายร่างกันได้นะ
รากของ Beauty Standard ในวงการคอสเพลย์ เรามองว่าเป็นหนึ่งใน Male Gaze (สายตาผู้ชาย) ด้วยความที่ญี่ปุ่น เป็นประเทศชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงไม่ได้มีสิทธิ์ มีเสียงขนาดนั้น มาตั้งกี่ร้อยปี ถูกผู้ชายกำหนดบทบาทเอาไว้ ว่าจะต้องสวย อ่อนหวาน อ่อนโยน และดูแลตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งคนไทยที่เสพวัฒนธรรมแบบนี้ ความคิดของเขาก็เลยเป็นแบบนี้ ยิ่งประเทศเรายังมีคนชอบเหยียด ชอบบูลลี่อยู่อีกมาก มันเลยไม่ได้เปลี่ยนความคิดกันได้ง่ายๆ
เราดูอนิเมะมาหลายเรื่อง แล้วพบว่า หลายครั้งตัวละครหญิงในอนิเมะมีไว้สนองความต้องการทางเพศของผู้ชายด้วย มากกว่าให้เธอโลดแล่นตามบทของเธออย่างเดียว เห็นได้ชัดง่ายๆ เลยคือ ฉากอาบน้ำในอนิเมะ บางทีมันก็ไม่จำเป็นต้องใส่ แต่ด้วยวัฒนธรรมที่เรียกว่า Fan Service สนองอารมณ์คนดู กลับทำให้เขาใส่เรื่องเชิงเพศลงไป ซึ่งสิ่งที่ใส่ดันเป็นเรือนร่างของผู้หญิง เน้นหน้าอก ซูมนมแบบไม่มีเหตุผล ให้ตัวละครชายหันไปมองนม เผลอเอามือไปชนนม เผลอไปเจอตอนอาบน้ำ เผลอล้มเอาหน้าซุกนม บางครั้งซุกอวัยวะเพศเลยก็มี
ที่น่าโมโหคือเขาพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องโรแมนติกฟินๆ เขินๆ ตัวละครหญิงหลายเรื่องมักจะร้องว้าย เขินจังเลย หน้าแดง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ตัวละครชายต้องรู้สึกว่าฉิบหายแล้ว เราทำให้ผู้หญิงคนนี้ไม่สบายใจ แต่อันนี้ทำออกมาให้ผู้หญิงไม่ได้รู้สึกอึดอัด แค่เขินเฉยๆ เพราะมีใจให้ ชีวิตจริงแค่โดนจ้องบางคนก็อึดอัดจะแย่แล้ว
แง่หนึ่งมันสื่อว่าเขามองผู้หญิงเป็นเพียง Sex Object เอาไว้มองดูให้ตัวเองฟิน รู้สึกดี อนิเมะกลายเป็นพื้นที่สร้างฝันมโน ว่าในชีวิตจริงอาจจะมีผู้หญิงแบบนี้อยู่ และภัยของการถ่ายทอดความเป็นผู้หญิงเขินๆ โดนตามตื๊อ แต่ยังชอบ แม้ฝ่ายชายจะทำตัว Creepy สิ่งเหล่านี้มันหล่อหลอมให้คนดูที่แยกแยะไม่ได้ คิดว่านี่คือเรื่องปกติที่ผู้หญิงจะเจอ และหาความชอบธรรมให้ตัวเองทำเรื่องแย่ๆ
มีเรื่องหนึ่งที่ดังมากๆ นางเอกกับพระเอกเป็นพี่น้องฝาแฝดกัน แล้วรักกัน มีเซ็กซ์กัน ซึ่ง 80% ของเคยดูเรื่องนี้ เอามาทำเป็นมุกขำขัน ทั้งๆ ที่มันไม่ตลก หลายคนไปแอบดูพี่สาว น้องสาวตัวเองอาบน้ำ มีผู้ถูกกระทำออกมาขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะไม่สามารถเก็บหลักฐานให้แน่ชัดได้ และมีกรณีของการวาดสาวโลลิ หรือเด็กสาวรูปร่างไม่เกิน 14-15 ปี ไร้ขน ผิวเนียน ซึ่งในฝั่งผู้ชายจะเรียกว่าโชตะ แล้วเอามาพูดว่า เราชอบคนที่รูปร่างเหมือนเด็กโลลิ โอเค คุณมีรสนิยมความชอบได้ แต่การมาบอกว่า ชอบคนรูปร่างเหมือนเด็ก มันสร้างอาชญากรรมได้เหมือนกัน
จริงๆ มีปัจจัยหลายอย่างมากที่ตัวละครใส่ชุดเซ็กซี่ บางตัวละคร การที่เขาแต่งตัวเซ็กซี่ เป็นสาวมั่นใจ แง่หนึ่งมันมองได้ว่า นี่คือการ Empower ผู้หญิงว่า ฉันจะแต่งตัวยังไงก็ได้ นี่คือสิทธิ์ของเรา แต่บางเรื่องก็พยายามดีไซน์ออกมาให้ผิดหลักโครงสร้างร่างกายชัดเจน เช่น ตัวละครใส่ชุดคอกระเช้าโคร่งๆ แต่วาดให้เว้าติดนม ผ้าถุงที่ควรจะเป็นลักษณะตรงๆ ออกมา ก็ทำให้เห็นว่ามีร่องสามเหลี่ยมอวัยวะเพศ หรือฉากต่อสู้ ที่อยู่ดีๆ ก็ให้เห็นความเด้งของนมอย่างไม่มีเหตุผล แบบนี้มันคือการเซอร์วิสเพื่อสนองอารมณ์ทางเพศ ซึ่งผู้ชายบางคนยังมองว่ามันน่าอึดอัดเลย
ปัญหาจึงไม่ใช่ชุด แต่เป็นการวางมุมมองผู้หญิงเซ็กซี่คนหนึ่ง ว่ามีไว้เพื่อสนองผู้ชาย หรือผู้หญิงคนนี้ เขาอยากเซ็กซี่เพื่อแสดงตัวตนของตัวเอง
บางคนยังไม่เข้าใจคำว่าคอสเพลย์ แล้วแยกแยะคอสเพลย์ กับคอสตูมไม่ได้ คำว่าคอสตูม คือคนที่แต่งชุดแนวแฟนตาซี ชุดนอนเซ็กซี่ หรือชุดพยาบาล ที่ไม่ได้มาจากการ์ตูน เพื่อโพสต์ภาพแนวเซ็กซี่ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เหมือนกับ Sex Creator บางคนที่ใช้ชุดคอสเพลย์เป็นจุดขาย ซึ่งเขาก็มีสิทธิ์ทำ เพราะชุดคอสเพลย์ มันก็เป็นชุดตัวละครสมมติ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะไม่ได้ แต่! ปัญหาอยู่ที่ คนจำพวกที่แยกแยะไม่ได้ว่าคนไหนทำคอนเทนต์แบบไหน ทำเพื่ออะไร ใครคอนเซนต์ ใครไม่คอนเซนต์ บางคนแต่งเพราะชอบคอสฯ เฉยๆ แต่มันก็มองว่านี่คือการเปิดโอกาสให้คุกคาม
บางคนคิดว่า การลงรูปสาธารณะ แปลว่าจะคอมเมนต์อะไรก็ได้ เพราะลงงานให้คนอื่นชม ก็ต้องยอมรับทุกคอมเมนต์ได้สิ ซึ่งจริงๆ การคอมเมนต์มันมีขอบเขตที่ต้องไม่ละเมิด หรือคุกคามใคร
เราขอย้ำว่า ไม่ว่าคอสเพลย์จะแต่งตัวเซ็กซี่ขนาดไหน คุณก็ควรให้เกียรติอีกฝ่ายในฐานะคนคนหนึ่ง และสนับสนุนผลงานของเขามากกว่า
แต่เท่าที่เราเห็น หลายคนไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายเป็นคนคนหนึ่งที่ควรให้เกียรติด้วยซ้ำ แต่มองเขาเป็นผู้หญิงที่มีเครื่องเพศ แทนที่จะโฟกัสว่าผลงานการคอสฯ เขาเป็นยังไง แต่ดันไปโฟกัสว่า นมใหญ่จัง! โอ้ว แซ่บ น่า…จัง
ประสบการณ์ตรงของเรา คือเคยคอสเพลย์ตัวละครเกมหนึ่งที่แต่งตัวค่อนข้างโชว์ร่างกาย เห็นเนินอก ซึ่งเราก็เอาผลงานไปแปะในกลุ่มเกม สิ่งที่เราได้รับคือ คอมเมนต์ที่เชิงลามก ส่งมีมสบู่ที่เป็นรู อารมณ์ช่วยตัวเองกับสบู่จนเป็นรู ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ควรส่งให้คนคนหนึ่ง ยิ่งกับคนไม่รู้จักเหรอ แล้วถ้าเราออกมาพูดว่าไม่สบายใจ คนก็จะมองว่า อีนี่เป็นเฟมทวิต ประสาทแดก เราเลยมองว่า เออปัญหาไม่ใช่ชุดแล้ว แต่เป็นที่คนมองเข้ามา จึงมีอีกหลายคนที่ตามคอสเพลย์เพราะจะสนองอารมณ์ทางเพศตัวเอง
ล่าสุดมี Abuser คนหนึ่ง ไปถ่ายรูปกับเพลย์เยอร์หญิงตามงานคอสเพลย์ เขาเอาตัวชิดเกินเหตุ ทำตัวสนิทเกินควร เข้าไปใกล้ พูดจาทำให้อีกฝ่ายไม่สะดวกใจจะคุยต่อ เหมือนจีบ เหมือนตื๊อ ทุกคนจึงช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการรวบรวมวีรกรรมเขาออกมา แล้วทยอยกันโพสต์ว่าให้ระวังคนนี้ไว้ เพราะว่ากันตามตรง เราไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีแค่คำพูด การมอง ไม่มีใครบันทึกเหตุการณ์ไว้ แล้วกฎหมายไทยก็ไม่สามารถช่วยลงโทษได้ เลยต้องแก้ปัญหากันเอง
หรือบางคนก็ทำทีมาเป็นตากล้อง แฝงตัวเข้ามาถ่ายรูป ซูมนม หรือซูมมากกว่านั้น ที่ตัวคนถูกกระทำไม่มีทางรู้เลย ว่าโดนแอบถ่ายภาพหวิวไป ยิ่งเด็กๆ ที่ยังรับมือกับสภาพจิตใจไม่ได้ เขาก็จะตีกับตัวเองว่า ฉันคิดมากไปเองไหม หรือว่านี่คือสิ่งที่ไม่ยุติธรรม
เด็กๆ บางคนโดนทักมาถามว่าขายเท่าไร ทำแบบนี้ได้ไหม เกินขอบเขตที่เขาผลิตผลงานไว้อย่างชัดเจน หรือพวกคนเลวๆ ก็จะตะล่อมหลอกล่อ ด้วยการอ้างว่าจะเปย์ชุด เพราะอย่างที่บอกว่าชุดมันแพง เด็กก็ต้องจำใจส่งรูปตัวเองไป เพราะอยากนำทุนมาแต่งคอสเพลย์ต่อ
เราจึงคิดเสมอว่า มุมมองทางเพศ ของคนที่ดูอนิเมะ หรืออ้างว่าอินอนิเมะ มันลามมาถึงชีวิตจริง เรื่องรสนิยม หรือไทป์ในการเข้าหาคนอื่น คนที่แยกแยะชีวิตจริงกับการ์ตูนไม่ได้ พวกเบียวมันอาจจะคิดว่ามันคือพระเอกในฮาเรมต่างๆ มองผู้หญิงในมุมมองนู้น มุมมองนี้ คิดว่าผู้หญิงสนใจมันเป็นทุนเดิม แล้วพอเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็อ้างว่า อ๋อ ทำไปเพราะอินอนิเมะ ทั้งๆ ที่มันคือความตั้งใจที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ สังคมก็จะมามองคอสเพลย์ว่า มึงแต่งเองไง เลยโดนกระทำ ซึ่งมันไม่ปกติอย่างมากในสังคมอะ
พูดตรงๆ คือเราไม่รู้เหมือนกัน เพราะการที่เราค่อยๆ ไปสวมแว่นตาให้เขามันยากมาก อาจจะต้องรอให้เขาตระหนักรู้เอง ซึ่งชาติไหนก็ไม่รู้ แต่ถามว่าจะหยุดทำไหม ก็ไม่ เราทำในส่วนของเราก็พอ พยายามส่งต่อในสิ่งที่เราตระหนักรู้ให้มันซึมซับกับใครสักคน แล้วเขาก็ส่งต่อไปอีกหลายๆ ทอด ก็อาจจะดีขึ้น
คนสมัยนี้มี Critical Thinking ที่จะรับสารน้อยลง เขาจะกรองแค่ที่ตัวเองอยากคิด ไม่ได้คิดจะกรองอย่างอื่น ปลูกฝังมาแบบไหน ก็เชื่อแบบนั้นไปเรื่อยๆ
เราว่ามันควรเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ถ้าครอบครัวสามารถปลูกฝังลูกตัวเองให้แยกถูก แยกผิด การศึกษาสามารถสอนให้เห็นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ว่าไม่มีใครใหญ่ไปกว่าใคร ถ้าคนเราเลิกมองกันที่เครื่องเพศ เลิกมองกันที่อวัยวะเพศ มองกันในฐานะมนุษย์ ปัญหานี้คงหมดไปในสักวันแหละ แล้วคนก็จะดูอนิเมะได้อย่างแยกแยะ และคนคอสเพลย์เยอร์ก็คงเจ็บปวดน้อยลง