LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

Verónica Cruz Sánchez เธอผู้เปลี่ยนม่านแห่งการทำแท้งในเม็กซิโก

วันสตรีสากลเพิ่งพ้นผ่านไปไม่กี่วัน นิตยสาร TIME ประกาศรายชื่อ 'ผู้หญิงแห่งปี' 12 คนประจำปี 2023 และหนึ่งในนั้นคือ เวโรนิกา ครูซ ซานเชซ นักสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวประเด็นการทำแท้งของผู้หญิงในเม็กซิโก

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่กินเวลายาวนานหลายปีในเม็กซิโกคือปัญหาสิทธิสตรีและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง มีรายงานในปี 2020 ว่า เกิดคดีฆาตกรรมผู้หญิงเป็นจำนวน 975 คดี ขณะที่ในปี 2021 มีคดีฆาตกรรมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 762 คดี องค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมักละเลยเรื่องปัจจัยทางเพศในคดีเหล่านี้ว่ามักเกี่ยวเนื่องกับการที่เหยื่อเป็นเพศหญิง ทำให้คนร้ายลอยนวลต่อไปได้ง่ายกว่าจนหลายคดีก็ปิดไม่ลง และหากยังจำกันได้ ปี 2021 นี่เองที่เป็นปีแห่งการประท้วงใหญ่ของกลุ่มผู้หญิง เมื่อหลายคนร่วมลงถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงจนถูกเรียกว่าเป็นวันแห่งผู้หญิงหรือ Day of Dead Women

กล่าวสำหรับซานเชซ เธอผลักดันประเด็นเหล่านี้มาแล้วกว่าสองทศวรรษ หมุดหมายสำคัญของเธอคือกัวนาฮัวโต -เมืองอนุรักษนิยมลำดับต้นๆ ของประเทศที่ถูกรัฐบาลจัดอันดับว่าเกิดสถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัวสูงที่สุดติดต่อกันนับปี- โดยผู้หญิงราว 59 เปอร์เซ็นต์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเคยผ่านประสบการณ์การถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน นอกจากนี้ สถิติการข่มขืนยังสูงลิ่ว ขณะที่การทำแท้งยังถูกมองเป็นเรื่องผิดบาป จนผู้หญิงหลายคนที่ตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจหรืออาจเกิดจากการถูกใช้ความรุนแรง จำต้องลักลอบทำแท้งจนเกิดอันตรายเป็นจำนวนมาก ซานเชซและเพื่อนที่ทำงานเรียกร้องสิทธิสตรีจึงแจกจ่ายยาสำหรับการทำแท้งที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ทั่วทั้งเมือง 


"แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ยังมีผู้หญิงอีกมากที่ต้องติดคุกเพราะไปทำแท้ง" ซานเชซบอก "นี่มันไม่ควรเป็นเรื่องที่ถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมสิ แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็ต้องติดคุกด้วยข้อหาฆาตกรรมซึ่งมีโทษตั้งแต่ 8 ถึง 40 ปี แล้วส่วนใหญ่ คนเหล่านี้ก็ยากจน เป็นชนพื้นเมือง คนชายขอบที่แทบเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขเลยด้วยซ้ำ"

"จำได้ว่าปี 2002 ฉันเจอ อราเซลี ผู้หญิงที่ต้องโทษและถูกสั่งจำคุก 22 ปีด้วยคดีฆาตกรรม เธอกับผู้หญิงอีกแปดคนต้องอยู่ในคุกที่เรียกว่า Puentecillas ในเมืองกัวนาฮัวโตนี่เอง แล้วเราก็ทำงานกันอย่างหนักเพื่อหาว่าใครบ้างที่ต้องโทษเพราะทำแท้ง จากนั้นก็พยายามสร้างที่ทางเพื่อให้พวกเธอกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง" ซานเชซบอก ซึ่งเรื่องที่เธอเล่านั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ง่ายเลย ผู้หญิงหลายคนที่ต้องโทษจากการทำแท้งนั้น แม้จะออกมาจากเรือนจำแล้วแต่ก็ยังถูกสังคมตีตราจนใช้ชีวิตได้ยากลำบาก ยังไม่นับว่าอีกหลายคนโทษและโบยตีตัวเองอย่างหนัก ซานเชซจึงต้องทำงานร่วมกับทั้งนักกฎหมายและนักจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือเหยื่อเหล่านี้ 

หนึ่งในแรงกระเพื่อมจากการลงแรงของซานเชซคือเมื่อเธอส่งประเด็นนี้ให้นักข่าวและเรื่องราวของเหยื่อ -ทั้งของสังคมและของกฎหมาย- เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ มันก็กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ เหนืออื่นใดคือ มันทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการทำแท้งในปี 2010 จนมีผู้หญิงที่เคยถูกตัดสินจำคุกเพราะทำแท้ง ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ รวมทั้งภายหลังจากนั้น ยังมีผู้หญิงอีกมากที่พยายามติดต่อชานเชซเพื่อให้เธอช่วยเหลือ ทั้งในแง่การถูกตัดสินจำคุกเพราะยุติการตั้งครรภ์ หรือคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและไม่อาจปริปากบอกใครได้ด้วย

แน่นอนว่าชื่อของซานเชซไม่ได้เป็นที่ต้อนรับของผู้คนนัก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เป็นอนุรักษนิยมในหลายๆ พื้นที่ ทั้งยังมีอีกหลายคนที่มองว่าเธอเป็นพวกต่อต้านผู้ชาย ซึ่งซานเชซยืนยันว่าไม่จริง และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเธอคือการสร้างความเท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง "เราอยากสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงน่ะ และสร้างหลักประกันที่ทำให้ผู้หญิงมั่นใจว่าพวกเธอจะปลอดภัยด้านเพศและไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวว่าจะถูกใช้ความรุนแรงด้วย" เธอยืนยัน

วัดจากความสำเร็จในการแผ้วถางพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงคนอื่นๆ ในเม็กซิโก และยิ่งใหญ่ขนาดผลักดันแก้กฎหมายจนถึงพยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิธีคิดที่สังคมมีต่อผู้หญิง ก็ไม่น่าแปลกใจหากว่านิตยสาร TIME จะยกให้ซานเชซเป็นหนึ่งในผู้หญิงแห่งปีเพราะเธอแสนจะคู่ควรกับตำแหน่งนี้จริงๆ

Author

MAN ON FILM

Content Creator

Related Stories

รำลึกถึงผู้หญิงในเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ผู้ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากระบอบเผด็จการ

life

รำลึกถึงผู้หญิงในเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ผู้ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากระบอบเผด็จการ

BY MIRROR TEAM 06 OCT 2022

MIRROR'sGuide