“มึงแบ๊วไปป้ะ เสียงเป็นอะไรเอ่ย” ผู้หญิงลุคต่างออกไปคนหนึ่งเคยพูดใส่ฉัน ทว่าตอนนั้นไม่ได้โต้ตอบอะไร เพราะคิดแค่ว่า ช่างมันเถอะ
“แต่งตัวแอ๊บแบ๊วจังนะ เลิกแต่งได้ป้ะ ไม่ชอบ” “เหมือนจะใส ที่แท้ก็ร้ายเงียบ”ฯลฯ
ถ้านี่เป็นซีนละคร ฉันและ ‘เอมี่’ ชุติกาญจน์ ปิยชาติ เพื่อนสมัยเรียน คงอยู่ในบทที่คล้ายๆ กัน เพราะประโยคข้างต้นคือประสบการณ์ตรงที่เธอเล่าหลังจากฉันทักไปว่าเคยโดนมาเหมือนกันไหม
เอมี่โดนกลุ่มเพื่อนผู้หญิงเหยียดต่อเนื่องนาน 7 ปี เพราะลุคแบ๊ว เรียบร้อย ชอบแต่งตัวหวาน สวมกระโปรงแนวโลลิต้า หรือผูกโบว์น่ารัก จนกลายเป็นคนเสียความมั่นใจ ถูกรังแก และถูกแบน
สิ่งที่เธอถูกกระทำ (หรือคุณเองอาจเคยเผชิญ) คือ ‘Internalized Misogyny’ หรือ ความเกลียดชังผู้หญิงจากภายใน และแนวคิดนี้ดันเกิดขึ้นกับ ‘ผู้หญิงด้วยกัน’ เพราะลึกๆ พวกเธอถูกกดทับจากผู้ชาย และอยากทำตัวให้พิเศษกว่าผู้หญิงคนอื่นเพื่อให้เกิดการยอมรับ ดั่งประโยค “I’m Not Like Other Girls”
‘การเหยียดผู้หญิงแบ๊ว’ คือหนึ่งในกำแพงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่คนยังไม่ก้าวพ้น และสิ่งที่กำลังจะเล่านี้ อาจทำให้คุณเข้าใจ Internalized Misogyny รวมถึงสิ่งที่ผู้หญิงอย่างเอมี่เผชิญได้มากขึ้น และตระหนักว่าไม่มีใครสมควรถูกเกลียดชัง
01
“ทั้งชีวิตเราโดนด่าว่าแอ๊บแบ๊วตลอดเวลา หรือไม่ก็บอกว่าเราใสๆ ลูกคุณหนู บอบบาง ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้แอ๊บอะไร เราเป็นของเราแบบนี้ ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นคนแบบไหนเลย แต่เขาคิดกันไปเอง แล้วพอบางวันเราทำท่าทางไม่เรียบร้อย เขาก็มาว่าเราอีกว่าเราไม่ใส แล้วใครบอกว่าเราใสอะ มันเป็นแค่ลุคเรา
“เราโดนแบนจากกลุ่มเพื่อนหลายครั้ง และร้องไห้กับเรื่องพวกนี้บ่อย ถูกตราหน้าว่าอีนี่มันแอ๊บ เราเลยลองพยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เพื่อนผู้หญิงยอมรับ จนกลายเป็นคนไม่มั่นใจ ไม่กล้าทำตัวเด่น ตามน้ำไปเรื่อย จากที่เคยชอบแต่งตัวแนวญี่ปุ่น ผ้าลูกไม้ฟูฟ่อง กลายเป็นว่าเราเก็บเสื้อผ้าที่ชอบเข้าตู้ ไม่ใส่มันอีก เพราะเพื่อนบอกว่าไม่ชอบ และจะไม่ยอมเดินด้วย”
Internalized Misogyny หรือความเกลียดชังผู้หญิงจากภายใน เกิดขึ้นเมื่อผู้คนซึมซับวัฒนธรรมเหมารวมทางเพศ (Stereotype) ซึ่งบทความ THE FABRIC OF INTERNALIZED SEXISM จาก Journal of Integrated Social Sciences กล่าวว่า ผู้หญิงถูกทำให้เรียนรู้ที่จะมีความคาดหวังต่ำเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง ได้รับการปฏิบัติจากคนรอบข้างว่าต้องได้รับการดูแล เมื่อวันไหนกล้าแสดงออกขึ้นมาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ พูดอะไรไปจะถูกลดทอน โดนคนไม่ชอบหากลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่จะถูกชื่นชมเรื่องรูปลักษณ์ร่างกาย หรือความเป็นเพศแทนความสามารถ และถูกคาดหวังให้มีท่าทางเมินเฉยเรื่องเซ็กซ์ การออกเดต หรือความสัมพันธ์
จะเห็นได้ว่าผู้หญิงถูกสังคมชายเป็นใหญ่กดทับมาโดยตลอด ทว่าโลกที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้หญิงหลายคนลุกขึ้นมาต่อต้าน และปลดแอกจากการกดทับ ใช้สิทธิ์ ใช้เสียงเรียกร้องความเท่าเทียมที่พวกเธอควรจะได้ ขณะเดียวกันผู้หญิงบางกลุ่มกลับเลือกอีกวิธีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ นั่นคือ ‘เหยียดคนอื่นให้ตัวเองสูง’
เกรตา โอลสัน (Greta Olson) นักวิชาการ และศาสตราจารย์ผู้สนใจเรื่องการเมือง กฎหมาย และเฟมินิสม์ อธิบายไว้ว่า การที่ผู้หญิงเกิดอาการเกลียดชังผู้หญิงจากภายใน มีผลกระทบมากกว่าการแค่ไม่ชอบผู้หญิงคนอื่นเฉยๆ เพราะในระบอบชายเป็นใหญ่ตามยุคสมัย ผู้หญิงที่เหยียดผู้หญิงจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าผู้หญิงที่ปฏิเสธการที่ผู้ชายสมควรมี privilage (และนั่นทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นถูกเกลียดชัง และนำไปสู่การโดนทำร้าย) ซึ่งในที่นี่ผู้หญิงที่ชี้ชัดว่าตัวเองอยู่ฝั่งผู้ชายเป็นใหญ่ จะได้อภิสิทธิ์บางอย่างในการกดขี่ผู้หญิงคนอื่นที่ต่างไปจากตน
02
“มากกว่าการโดนเพื่อนผู้หญิงหมั่นไส้ เพื่อนผู้ชายก็ไม่ค่อยกล้าเล่นกับเรา เพราะคิดว่าเราอ่อนแอ แต่แย่กว่านั้นพอมันคิดว่าเราไม่กล้าโต้ตอบ มันก็มาแต๊ะอั๋ง มาจับตูด ลูบหัว จับแก้ม หอมแก้ม เรากลายเป็นคนกลัวผู้ชายอยู่พักหนึ่งเลย”
พอจะเห็นอำนาจของการเกลียดชังผู้หญิงจากภายในไหม? ว่ามันเพิ่มความรุนแรงได้มากแค่ไหน จากการถูกทำให้เป็นผู้หญิงกลุ่มที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ ‘ไม่ยอมรับ’ แถมสื่อมากมายยังทำให้แนวคิด “ฉันไม่เหมือนผู้หญิงพวกนั้นหรอก” ชัดขึ้นไปอีก
บริลีน แยงคีลา (Brilynn Janckila) จาก Saint Cloud State University เจ้าของงานวิจัยเรื่อง Boys Will Be Boys, Girls Will Be Not Like Other Girls: A Symbolic Convergence Theory Examination of “Other Girls” หยิบยกตัวอย่างหนังขวัญใจคนทั่วโลกอย่าง Harry Potter มาวิเคราะห์ว่ามันซ่อนนัยการเหยียดผู้หญิงผ่านคาแรกเตอร์หญิงอย่าง Hermione Granger และ Ginny Weasley
เพราะทั้ง Harry Potter และ Ron Weasley ชื่นชม และยอมรับตัวละครหญิงทั้งสองเนื่องจากมีคุณสมบัติที่เจอได้จากผู้ชายอย่างพวกเขา คือความกล้าหาญ และฉลาด ที่สำคัญในเรื่องพวกเธอแทบจะไม่โฟกัส รู้สึกชอบ หรืออยากมีความสัมพันธ์กับเด็กผู้ชายคนอื่นๆ เลย ซึ่งทำให้พวกเธอแตกต่างจากผู้หญิงคนอื่นในโรงเรียน และส่งเสริมให้คนดูรู้สึกคล้อยตามกับแนวคิดว่า ‘ผู้หญิงคนอื่น’ ด้อยกว่าสองสาวที่บุคลิกเป็นไปตามความคาดหวังของผู้ชาย
คุณลองคิดดูสิ ว่าการจำแนกผู้หญิงที่ดี ผู้หญิงที่ปัง ผู้หญิงที่ไม่น่ารำคาญ จะผลักให้คนที่ไม่เป็นผู้หญิงตามความคาดหวังของสังคม ‘เป็นอื่น’ และไม่ถูกยอมรับแค่ไหน
03
“พอสังคมชายเป็นใหญ่ตีกรอบให้ผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ รวมไปถึงการมีผู้หญิงอีกกลุ่มมาบอกว่าตัวเองเป็นคนลุยๆ แมนๆ ชอบสีดำ นิสัยฉันเหมือนผู้ชาย คบเพื่อนผู้ชาย ไม่ได้น่ารำคาญ งี่เง่า หรือวุ่นวายเหมือนผู้หญิงคนอื่น ยิ่งช่วยให้ระบอบชายเป็นใหญ่ที่กดทับทุกคนแข็งแรงขึ้นไปอีก ซึ่งจริงๆ ไม่มีใครควรกำหนดว่าผู้หญิงต้องมีนิสัยแบบไหน มีผู้หญิงห้าวๆ ได้ ก็ต้องมีผู้หญิงแบ๊วๆ ได้เหมือนกันสิ”
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Internalized Misogyny คือการทำให้เกิด Queen Bee Syndrome หรืออาการของผู้หญิงที่ประพฤติตัวในแบบฉบับของผู้ชายเพื่อแสดงความแข็งแกร่ง อยู่จุดสูงสุด มีความสำเร็จ และโน้มน้าวใจผู้ชายว่าพวกเธอไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ
ทฤษฎี Queen Bee Syndrome เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1970s โดยนักจิตวิทยาสังคม เกรแฮม สเตนส์ (Graham Staines) โทบี จายาราตเน (Toby Jayaratne) และ แครอล ตาฟรี (Carol Tavri) โดยหมายถึงผู้หญิงที่มีอำนาจ และปฏิบัติต่อสตรีผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างร้ายแรง
ในหนังสือ The Power of Perception ของชอว์น แอนดรูวส์ (Shawn Andrews) ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศ และความหลากหลาย ระบุว่าพฤติกรรมของคนที่เป็น Queen Bee Syndrome มีตั้งแต่การดูหมิ่นลักษณะของผู้หญิงว่าเจ้าอารมณ์ ชอบดราม่า ไปจนถึงเน้นย้ำคุณลักษณะความเป็นชายของตนเอง เช่น ฉันคิดว่าฉันนิสัยเหมือนผู้ชาย ซึ่งน่ากลัวตรงที่ว่าผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ บางคนอาจใช้อำนาจของเธอ บ่อนทำลายเพื่อนร่วมงานผู้หญิงคนที่เธอไม่ชอบได้
04
แม้ทุกวันนี้ผู้หญิงลุคแบ๊วอย่างเอมี่จะเข้มแข็งมากขึ้น รับฟังคำชื่นชมที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แทนคำว่าร้ายจากสังคมมาใส่ใจ แถมเจอเพื่อนที่เข้าใจในตัวตนของเธอแล้ว แต่ใช่ว่าการเหยียดผู้หญิงลุคแบ๊วจะหมดไปจากสังคม
“ที่เราผ่านมาได้ และเริ่มรักตัวเองมากขึ้น เพราะเรากล้าที่จะเลือกคบเพื่อนใหม่ คนที่เคารพความชอบ หรือรสนิยมซึ่งกันและกันในทุกเรื่อง มีอะไรก็พูดกันตรงๆ ซึ่งเรามองว่ายังมีคนในสังคมอีกมากปิดกั้นตัวตนของคนอื่น เพราะสิ่งต่างๆ ที่ถูกปลูกฝังกันมานาน มันอาจจะยากที่จะเปลี่ยน แต่ถ้าไม่เริ่มซักทีมันก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย อยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับและรับฟังคนอื่นให้มากขึ้นกว่านี้เยอะๆ”
เอมี่หวังแบบนั้น และตัวฉันเองก็หวังให้สังคมเปลี่ยน และหมดยุคการเหยียดผู้หญิงด้วยกันสักที
เนื้อหา: พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ
อ้างอิง
https://www.researchgate.net/profile/Paul_Chaney2/