LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

ชวนอัปเดตความเข้าใจกฎหมายไทย ข่มขืนคู่สมรสมีความผิด

ตั้งแต่โบราณมา เวลามีกรณีสามีข่มขืนภรรยา เรามักจะได้ยินคำพูดตามมาในทำนองที่ว่า ‘ก็เขาผัวเมียกัน’ นั่นทำให้บ่อยครั้งเหยื่อของการคุกคามและความรุนแรงทางเพศถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น เพียงเพราะอยู่ในฐานะ ‘ภรรยา’ ซึ่งคนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ภรรยาจะเป็นฝ่ายสนองความต้องการทางเพศของสามี ‘เมื่อไรก็ได้’ และ ‘ในลักษณะใดก็ได้’ 

ทำให้หลายคนต้องถูกบังคับกลายๆ ให้จำยอม ก้มหน้าก้มตารับความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจต่อไป หรือไม่ก็เดินออกจากชีวิตคู่ไปเเบบเงียบๆ หนำซ้ำยังอาจถูกตีตรา ถูกตัดสิน จากสังคมไปอีก ขณะที่สามี ในฐานะผู้กระทำก็มักจะลอยตัว รอดพ้นความผิดทุกครั้งไปแบบเนียนๆ หากไม่ได้เกิดการฟ้องร้องกันให้เป็นเรื่องเป็นราวจากอีกฝ่าย 

ไหนจะความเชื่อ และข้ออ้างแบบ ‘เรื่องผัวๆ เมียๆ อย่าไปยุ่ง!’ ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน เหล่านี้อาจสะท้อนได้ว่าสังคมกำลังเข้าใจผิดไปว่า การที่ใครสักคนอยู่กินกันฉันสามีภรรยากันแล้ว จะสามารถบังคับขืนใจอีกฝ่ายอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ 

เราจึงอยากชวนมองในแง่กฎหมาย ว่า ณ ปัจจุบันนี้การข่มขืนภรรยาของตัวเองนั้นมีความผิดหรือไม่ อย่างไร สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจหรือยังไม่ได้อัปเดต

ข่มขืนคู่สมรสมีความผิดหรือไม่? 

มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

นอกจากนั้น กฎหมายยังระบุว่า ‘แต่หากคู่สมรสยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้’ 

สรุปได้ว่า การข่มขืนตามมาตรานี้ ถ้าเป็นกรณีของคู่สมรสกระทำต่อกัน ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ยกเว้นเป็นการทำให้เกิดอันตรายสาหัส หรือเสียชีวิต 

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘คู่สมรส’ ในที่นี้หมายถึงการสมรสที่เห็นชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่มีการจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันกฎหมายเรื่องการข่มขืน ไม่ได้มีข้อยกเว้นความผิดให้กับคู่สมรสแล้ว จะยังไงก็ผิดตามที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่จะมีรายละเอียดในส่วนของโทษตามกฎหมายที่แตกต่างกันไปอีก

ข่มขืนคู่สมรส เป็นเหตุให้สามารถฟ้องหย่าได้หรือไม่?

ได้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาต่อคู่สมรส และเป็นการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อการใช้ชีวิตสมรส เข้าเหตุแห่งการฟ้องหย่าตามกฎหมายได้

ในกรณีที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ การข่มขืนอีกฝ่ายจะถือว่ามีความผิดหรือไม่?

ตามความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็สามารถตกเป็น ‘เหยื่อ’ หรือเป็น ‘ผู้กระทำ’ การข่มขืนได้ทั้งนั้น จึงนำไปสู่การแก้ไขมาตรา 276 เมื่อปี 2550 จากเดิมที่ว่า : 

‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยขู่เข็ญประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกสี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันถึงสี่หมื่นบาท’

บทบัญญัติใหม่ของมาตรา 276 ในปี 2550 ได้แก้ไขว่า  

‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท’ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเรื่องการขจัดความแตกต่างของเพศและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง 

ทั้งนี้ การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ‘การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น’

กฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น’ โดยไม่ได้กำหนดเพศสถานะใดๆ ไว้ ดังนั้นใครขมขื่นผู้อื่นก็ถือว่ามีความผิดทั้งหมด

ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่เกิดการแก้ไขกฎหมายในปี 2550 เพราะนอกจากจะเป็นการขจัดอติทางเพศเพื่อความเท่าเทียม และเป็นการปรับให้เข้ากับยุคสมัยแห่งความหลากหลายทางเพศแล้ว ก่อนหน้านี้ ตามที่กฎหมายระบุว่า ‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน’ นั่นหมายถึงว่า ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในฐานะภรรยา ตัวสามี-ผู้กระทำ ก็จะไม่มีความผิดฐานนี้เลย

การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายนี้จึงช่วยลบมายาคติที่ว่า ภรรยามีหน้าที่ยอมให้สามีร่วมเพศไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ด้วย 

และยังช่วยให้เกิดความตระหนักในสังคมมากขึ้นด้วยว่า ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน ภรรยา สามี หรือคู่รักเพศใดๆ ความรุนแรงทางเพศก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และทุกคนก็ควรได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากอคติ  

และที่สำคัญ ในเมื่อกฎหมายเปลี่ยนแล้ว วันหนึ่งทัศนคติมวลรวมของทั้งสังคมก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน 

อ้างอิง

https://ilaw.or.th/node/1859 

http://www.lawgrad.ru.ac.th/AbstractsFile/6124012637/1615955848e2d800f04f2a95f46224e52fa3826416_abstract.pdf 




Author

NUT LELAPUTRA

TAG

Related Stories

UN เผย ผู้หญิงถูกฆ่าโดยคนรักหรือคนในครอบครัว ชั่วโมงละ 5 คน

life

UN เผย ผู้หญิงถูกฆ่าโดยคนรักหรือคนในครอบครัว ชั่วโมงละ 5 คน

BY MIRROR TEAM 27 NOV 2022

MIRROR'sGuide