หากลองเสิร์ชเล่นๆ ว่า ‘โรงพยาบาลบริการแย่’ ก็จะพบกับผู้คนที่เข้ามาแชร์ประสบการณ์กันมากมาย แต่เป็นประสบการณ์ ‘เลวร้าย’ ที่ได้พบเจอมาจากการบริการของโรงพยาบาล ทั้งรัฐฯ และเอกชน ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ และจากเจ้าหน้าที่ในระบบการรักษา ที่นอกจากร่างกายของพวกเขาจะเจ็บป่วยอยู่แล้ว ยังทำให้จิตใจป่วยตามไปด้วย
เราไม่อาจเหมารวมจากแค่การแชร์ในโลกโซเชียลฯ ว่าระบบการรักษาพยาบาลในบ้านเรานั้นเต็มไปด้วยข้อเสียทั้งหมด เพราะเป็นความจริงที่ปัจจัยทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ไปจนถึงปัจจัยอีกหลายอย่างที่สวนทางกับความต้องการเข้าถึงการรักษา จึงเป็นเรื่องยากที่ทุกคนในประเทศจะสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดได้ และด้วยปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้ระบบการรักษาไม่สามารถ ‘ดูแล’ เราได้อย่างที่ควรจะเป็น
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจ และ ‘ทำใจ’ ยอมรับกับปัจจัยเหล่านี้มานานแล้ว แต่บางครั้งก็น่าคิดเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงต้องทำใจยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่มันไม่ปกติ และหลายเรื่องควรถูก Treat ว่าเป็น ‘ปัญหา’ ที่ต้องได้รับการแก้ไขหรือเปล่า
เราขอยกเคสตัวอย่างของคนที่เคยเจอประสบการณ์ไม่โอเคกับระบบการรักษา ซึ่งตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดระบบบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่น่าจะสามารถพึ่งพาชีวิตได้ กลับเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาในฐานะประชาชน กลับรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ ยิ่งกว่าเดิม?
ตั้งแต่เริ่มรู้ตัวว่าเริ่มมีภาวะซึมเศร้าเมื่อหลายปีก่อน แฟง Marketing Director วัย 33 ตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จากความเครียดเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวที่รุมเร้ามานาน แต่คำแนะนำที่ได้รับจากจิตแพทย์กลับทำให้เธอรู้สึกแย่ลงกว่าเดิม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการ Ghosting ระหว่างเธอกับการรักษา
“หมอบอกว่าให้เราหาแฟนสักคน บอกให้เรามีลูก เขาคงคิดเองว่ามันน่าจะช่วย ‘แก้ไข’ ความรู้สึกในใจเรา เหมือนเป็นโอกาสที่เราได้แก้ไขความผิดพลาดในสิ่งที่เจอมาจากพ่อแม่มั้ง”
“ทั้งที่ปัญหาเราตอนนี้คือหนี้สินที่ต้องจัดการให้พ่อแม่ ซึ่งก็เป็นภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกรับมากพอแล้ว จนทำให้เราเครียด และซึมเศร้าอย่างที่เป็นอยู่ เราไม่รู้ว่านี่คือการแนะนำแบบขอไปทีหรืออะไร เราแทบไม่ได้อะไรจากการไปหาจิตแพทย์ครั้งแรกเลย”
โชคดีว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เธอรักษานั้นสามารถขอเปลี่ยนหมอได้หากไม่คลิก ครั้งต่อมาของการพบจิตแพทย์จึงดีขึ้น เธอรู้สึกว่าหมอรับฟังอย่างเข้าใจ คลิกกันมากกว่า และให้คำแนะนำที่รู้สึกโอเค แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการปรึกษาทุกสัปดาห์ในช่วงแรก บวกกับค่ายาที่แพงหูฉี่ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2-3 พันบาท ค่อนข้างสวนทางกับรายได้ของเธอในตอนนั้น ทำให้ต้องยอมยุติการรักษา และจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาแผนกจิตเวช ณ โรงพยาบาลประกันสังคมแทน ซึ่งเธอบอกว่าประสบการณ์ที่ได้รับนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“หมอคนที่ 3 ที่เรารักษาซึมเศร้า เขาไม่พูดอะไรกับเราเลย ไม่ว่าเล่าเรื่องอะไรไปเขาก็แค่พยักหน้า ‘ครับ’ อย่างเดียว จนหลายครั้งที่เราไป เรารู้สึกเหมือนกำลังพูดกับกำแพง (หัวเราะ) บางทีก็คิดนะว่า ถ้าไม่ได้อะไรจากการมาคุยกับหมอ งั้นจะมาทำไมให้เสียเวลาวะ คือไม่มีคำแนะนำอะไรกลับมาเลย เหมือนนัดมาเจอหน้า รับยาให้มันจบๆ ไป”
“สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลิกไปหาหมออีกครั้งคือการที่เราไปตามนัดแล้วหมอไม่มา แต่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าใดๆ จากโรงพยาบาล และไม่มีหมอคนอื่นให้เราพบแทนด้วย มันทำให้เรารู้สึกแย่ไปเลย เพราะสำหรับคนที่ไม่สามารถจะคุยปัญหาของเรากับใครได้ หมอคือคนที่เราคาดหวังอยากจะคุยด้วยมากที่สุดแล้ว แต่พอถึงวันนัดกลับโดนเท อีกอย่างคือบางทีคนที่มีภาวะซึมเศร้าหนักๆ ในจุดหนึ่ง อย่างเรา การเดินทางมาโรงพยาบาล กับการใช้ชีวิตบนรถนานๆ คนเดียวมันทรมานมากนะ หลายครั้งเราต้องให้คนที่บ้านไปส่ง นั่นก็เป็นภาระเขาอีก เรายังโชคดีว่าไปหาหมอด้วยสติที่ยังไหว แต่สำหรับคนอื่นที่เป็นหนักกว่า อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราตัดสินใจย้ายประกันสังคมมาอีกโรงพยาบาลหนึ่ง แต่ก็เหมือนเดิม เจอหมอที่ไม่ให้คำปรึกษาอะไรอีกเหมือนกัน แค่ให้มาตามนัด แล้วจ่ายยาให้จบๆ ไป”
เธอบอกว่าที่มันแย่คือการย้ายโรงพยาบาลหรือเปลี่ยนจิตแพทย์แต่ละครั้ง หมายถึงการได้รับยาไม่ต่อเนื่อง และทำให้ต้องเริ่มนับหนึ่งในการกินยาอีกรอบ เธอบอกว่ากว่ายาจะคงที่จนผ่านช่วงแรกไปนั้นค่อนข้างทรมาน เนื่องจากภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน ส่งผลให้ยิ่งยากต่อการควบคุมตัวเอง การ Ghosting กับการรักษาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการเยียวยาตรงจุดอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เธอเกิดความคิด จนถึงกับวางแผนที่จะจากโลกนี้ไปอยู่บ่อยครั้ง
“เพื่อนบางคนแนะนำให้ไปรักษาซึมเศร้าที่โรงพยาบาลรัฐฯ ดังๆ ที่มีแพทย์เฉพาะทางจริงๆ แต่ต้องแลกกับการยอมรอคิวนานหลายเดือน ซึ่งเรามองว่าสำหรับคนที่ได้รับการรักษามาระยะหนึ่ง หรือได้รับยาเข้าที่เข้าทางมาสักพักแล้วมันโอเคนะ แต่สำหรับเรา กับคนอีกมากที่ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับความไม่ปกติที่เกิดขึ้น การรอคิวนานๆ เป็นเรื่องทรมานเกินไป เพราะจุดนั้นเขาอาจจะพูดกับใครไม่ได้เลย การหาจิตแพทย์อาจเป็นความหวังเดียวที่เขามี”
เมื่อการไปพบจิตแพทย์หรือในโรงพยาบาลเอกชนเป็นไปไม่ได้ด้วยปัจจัยเรื่องค่ารักษา จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เจอจิตแพทย์ที่ตอบโจทย์ในโรงพยาบาลประกันสังคม เธอเองก็ไม่รู้ว่าการ Ghosting การรักษาไปเรื่อยๆ แบบนี้จะไปจบลงที่ใด และภาวะที่เธอเป็นอยู่จะมีวันบรรเทาลงหรือเปล่า
“เราอยากให้เขามองว่าโรคซึมเศร้าคือภาวะฉุกเฉินของคนที่กำลังดิ่ง ดาวน์ มันไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้น การที่เราไม่สามารถเข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่าย และไม่มีทางเลือกในการเจอจิตแพทย์ที่ให้คำปรึกษาเราได้จริงๆ ทุกวินาทีมันหมายถึงชีวิตเลยนะ”
บ่อยครั้งที่ความไม่โอเคของระบบการรักษามาในรูปแบบของการปฏิบัติระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับเราในฐานะคนไข้ สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ แต่สำหรับบางคน อาจนำมาซึ่งแผลในใจจนทำให้เข็ดขยาดกับการรักษาไปอีกนาน
เช่นเดียวกับฟรีแลนซ์วัย 29 อย่างเอม (นามสมมติ) เมื่อหลายปีก่อน เธอไปพบหมอ ณ คลินิกโรคผิวหนังแห่งหนึ่งด้วยอาการลมพิษเรื้อรังซึ่งเป็นมานานร่วมปี การรักษาดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอทำให้เธอตัดสินใจเลิกรักษาแบบลาขาด
“เราอยู่กับโรคภูมิแพ้ผิวหนังมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นๆ หายๆ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ลมพิษขึ้นแบบขึ้นทุกวัน ต้องกินยาแก้แพ้ทุกวัน เลยตัดสินใจหาหมอที่คลินิกโรคผิวหนังตามที่อ่านในเน็ตฯ คนไปหาเยอะ หมอดัง ที่สำคัญคือไม่ไกลบ้าน เดินทางสะดวกด้วย”
“รักษาอยู่นานประมาณครึ่งปีได้มั้ง ทุกครั้งที่ไปก็ปกติดี ไม่มีอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งที่เรามาตามนัดหมอเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ หมอพูดกับเราด้วยท่าทีและน้ำเสียงเหมือนรำคาญประมาณว่า ‘ทำไมไม่หายสักทีเนี่ย’ ในใจเราตอนนั้นก็คิดว่า เออ เราก็ไม่สนุกหรอกที่ต้องเสียเวลามาหาหมอ มานั่งรอคิวนานๆ (เนื่องจากเป็นคลินิกที่คนมารักษาเยอะ แต่ละครั้งต้องรอคิวไม่ตำ่กว่าครึ่ง - หนึ่งชั่วโมง) แถมเสียเงินอีก ใครจะอยากไม่หายสักทีล่ะ”
“แล้วหมอก็ถามว่าเรามีแฟนไหม เราก็งงๆ ตอบว่าตอนนี้ไม่มี หมอก็บอกว่าถ้างั้นต้องหาแฟน หมอว่าการมีแฟน มีความรัก หรือมีเซ็กซ์จะช่วยหลั่งสารแห่งความสุข บลาๆ ที่ช่วยทำให้ผิวดีขึ้น เราก็งงหนักไปอีก ไม่รู้นะในทางวิทยาศาสตร์เซ็กซ์อาจจะช่วยทำให้ผิวดีขึ้นจริงไหม แต่ที่รู้คือมันเกี่ยวอะไรกับการรักษาของเราก่อนวะ (หัวเราะ)”
ความพีกยังไม่หมดแค่นั้น นอกจากหมอจะไล่ให้ไป ‘มีผัว’ เพื่อแก้ลมพิษเรื้อรังแล้ว ที่ทำให้เธอรู้สึกพีกกว่านั้นคือการที่หมอวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ของเธออย่างดุเดือด “เราเป็นคนที่แต่งตัวทรงบอยๆ ไปหาหมอทุกครั้งก็จะใส่เสื้อยืด Oversized กางเกงลุงๆ หน้าไม่แต่ง ผมรวบง่ายๆ อะไรแบบนั้น แล้วหมอบอกว่าไงรู้ไหม หมอบอกว่าเราก็ไม่ใช่คนหน้าตาขี้เหร่นะ ผิวก็ไม่ได้แย่ น่าจะหาแฟนได้ แต่แต่งตัวแบบนี้ มันดูเชยมาก แก่มาก ‘หมอเป็นผู้ชายขอพูดตรงๆ อย่าโกรธนะ เห็นแล้วไม่มีอารมณ์เหมือนกันว่ะ’”
“นาทีนั้นเราไม่แน่ใจว่าโกรธไหม แต่พอกลับบ้านมานั่งคิดอีกทีก็รู้สึกโกรธ คิดว่านี่คือวิธีที่หมอตัดความรำคาญที่เราไปรักษานานแล้วไม่หายสักทีหรือเปล่า เลย Verbal Abuse ให้เรารู้สึกเฟลตัวเอง จนเลิกไปรักษา ซึ่งเราก็เลิกไปจริงๆ แหละ”
โชคดีที่เอมเป็นคนค่อนข้างมั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง จึงไม่ได้รู้สึกว่าคำพูดของหมอสามารถทำอะไรเธอได้มากไปกว่าทำให้รู้สึกหงุดหงิดในบางครั้งที่นึกถึง แต่เธอยอมรับว่าสำหรับคนที่เคยเจอการ Abuse มากกว่านี้จากบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในระบบการรักษา ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือวิธีการปฏิบัติ เธอเข้าใจดีในความรู้สึกย่ำแย่ และไม่อยากให้ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นกับใครเลย
“เราคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะพูดเรื่องนี้ดีไหม จะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตก็ได้ แต่เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่เคยเจอหนักกว่าเรา และอีกหลายคนที่ไม่อยากพูดถึงมัน เพราะมันอาจทำให้เขามีแผลในใจจนรู้สึกแย่เกินไปที่จะเล่ามันออกมา
“คำถามคือ คนเป็นบุคลากรทางการแพทย์มีสิทธิ์ ‘ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์’ ของคนไข้ได้มากขนาดนี้เลยเหรอ แล้วการไปหาหมอควรรู้สึกปลอดภัย หรือทำให้กลัว อับอายจนไม่อยากกลับไปรักษาอีกกันแน่”
เมื่อหลายปีก่อน อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของแคท ผู้ทำอาชีพอิสระ วัย 33 ถือเป็นความโชคร้ายที่ยังมีความโชคดี ครอบครัวของเธอรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด แต่มันก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ด้านมืดของ ‘คัลเจอร์’ บางอย่างในระบบการรักษาที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก
“ตอนที่น้องชายแฟนกับแม่แฟนเราประสบอุบัติเหตุรถชนที่จังหวัดสระบุรี ทั้งคู่เจ็บหนักมากจนต้องนำส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่
นอนอยู่แบบนั้นประมาณ 4-5 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้รับยาแก้ปวด หรือไม่ได้รักษาอะไรเลย ทำได้แค่เช็ดแผล ทั้งๆ ที่น้องกะโหลกร้าว สะโพก ก้นกบหัก ฟันข้างหน้าหัก 5-6 ซี่ ปากฉีก ส่วนคู่กรณีที่หามส่งพร้อมกับน้องและแม่ก็หนักมากพอกัน ต้องตัดขา 1 ข้าง สภาพน้องตอนนั้นคือนอนร้องไม่มีสติ”
“จำได้วันนั้นตรงกับวันอาทิตย์ มีแค่หมอที่อยู่เวร ส่วนหมอประจำแทบไม่มีเลยทั้งโรงพยาบาล เหตุผลคืออะไรรู้ไหม เหมือนมี ‘ผู้ใหญ่’ สักคนมาลงพื้นที่แถวนั้น แล้วหมอทั้งโรงพยาบาลต้องไปรับ ไปร่วมพิธี อันนี้แบบโมโหมากกว่าจะทำเรื่องย้ายโรงพยาบาลเสร็จ กว่าจะได้ดำเนินการรักษาจริงๆ ไม่แปลกใจเลยที่บางคนอาจทนพิษบาดแผลไม่ไหว”
“โชคดีว่าประกันสังคมของทั้งคู่อยู่ที่โรงพยาลที่คนรู้จักเราทำงานอยู่ เขาจึงช่วยวิ่งเรื่องให้ ทำให้ลดขั้นตอนลงไปได้เยอะ และที่สำคัญคือช่วยให้เข้าถึงตัวหมอ เข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา”
จากประสบการณ์หนักหนาครั้งนี้ เธอบอกว่าในระบบการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะของรัฐฯ กระบวนการทุกอย่างไม่ได้เข้าถึงง่าย แต่เต็มไปด้วยขั้นตอนที่ล่าช้า จนมันกลายมาเป็นรากเหง้าของสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบเส้นสาย’ ซึ่งเธอยอมรับว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากระบบนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“มันเหมือนเป็น ‘คัลเจอร์’ ของระบบไปแล้ว ทุกคนรู้ว่ามีอยู่ มีเยอะด้วย แต่เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำใจยอมรับมัน”
“ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา พอเป็นเรื่องความเป็นความตายของใครสักคนในครอบครัว ทุกคนจะระดมหาเส้นสายก่อนเลย วิ่งเต้นโทรหาคนโน้นคนนี้ ถามใครที่รู้จักหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โทรหายันพ่อเพื่อนที่เป็นนายพล ยันคนมีตำแหน่งทางการเมือง แต่สุดท้ายแล้ว มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่วิ่งเต้นหาเส้นสายแล้วจะได้สิทธิ์นั้น ถ้าคุณไม่ได้เป็นบุคคลสำคัญ เป็นคนมีชื่อเสียง หรือเป็นลูกคนใหญ่คนโตจริง คนมีเส้นสายเล็กก็จะแพ้คนที่มีเส้นสายใหญ่กว่า เพราะมันวิ่งเต้นกันทั้งระบบ”
เมื่อความต้องการเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุด ง่าย และเร็วที่สุด สวนทางกับทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เธอมองว่านี่แหละ คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ระบบเส้นสายเหล่านี้ยังคงมีอยู่ จนกลายเป็นคัลเจอร์ ‘ปกติ’ ของระบบการรักษาพยาบาลไทย ที่ยิ่งทำให้การเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องเเทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
“เส้นสายเป็นเรื่องที่พอพูดขึ้นมา คนอาจจะรับไม่ได้ มองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง เวลาเกิดเรื่องหนักๆ เกี่ยวกับความเป็นความตายที่ต้องเข้าโรงพยาบาลขึ้นมา เราเชื่อว่าถ้าเลือกได้ หลายคนก็คงอยากมีเส้นเส้นสายอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาได้รับการรักษาเร็วที่สุด ได้เจอหมอเก่งที่สุด ซึ่งถ้ารัฐฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมากกว่าที่เป็นอยู่ คนจะไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องเส้นสายอะไรพวกนี้เลย”
“หรือต่อให้ไม่มีเส้นสายก็ต้องมีเงินจริงไหม เพื่อให้ได้เข้าโรงพบาลเอกชน ไม่ต้องรอคิว ได้มีทางเลือกในการรักษามากกว่า ส่วนคนหาเช้ากินค่ำ คนไม่มีเงิน คนใช้สิทธิ์รัฐฯ ก็ต้องก้มหน้าก้มตารับสภาพ ต้องแออัดกันต่อไป เจ็บหนักแค่ไหนก็ต้องรอ เพราะทุกคนก็หนักเหมือนกัน ต้องรอคิวเหมือนกัน”
“เราว่าสิ่งที่คนกังวลไม่ใช่เรื่องสุขภาพหรืออุบัติเหตุหรอก แต่เป็นความกังวลว่า พอวันหนึ่งมันเกิดขึ้น แล้วเขาจะได้รับการรักษาไหม จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุดหรือเปล่า จะอยู่ หรือจะตาย ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้นเลย”
Author