LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

Post-traumatic growth กับ 5 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราสามารถ เจริญงอกงามหลังผ่านเรื่องร้ายแรงในชีวิต

หลายต่อหลายครั้งที่เรารู้สึกว่าเรื่องที่เจออยู่มันย่ำแย่และหนักหนาจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันถ้าถามว่ายังมีความรู้สึกอื่นๆ ผสมอยู่ด้วยไหม บางครั้งอีกเสี้ยวของใจก็มีความรู้สึกขอบคุณคนรอบข้าง มีความรู้สึกทึ่งในตนเองที่ยังยืนระยะรับมือเรื่องที่ถาโถมเข้ามา เมื่อเหตุการณ์ที่เป็นเหมือนพายุในชีวิตผ่านพ้นไป ก็รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างมากมาย การเติบโตที่เกิดขึ้นหลังความเจ็บปวดนี้มีชื่อในทางจิตวิทยาว่า Post-traumatic growth (PTG) – ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

ตามหลักทฤษฎี เหตุการณ์สะเทือนใจในที่นี้ไม่ใช่ความเครียดธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่เป็นเหตุการณ์วิกฤติที่ส่งผลกระทบชีวิต เช่นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคร้ายแรง การตกงาน ความเครียดจากพิษเศรษฐกิจ อุบัติเหตุ ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ และสงคราม แม้บางเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องดีหากเราได้ทำความเข้าใจว่ากลไกอะไรที่ช่วยให้จิตใจของคนเราไม่ล้มพับไปกับเรื่องราวที่หนักหนา แต่กลับเติบโตขึ้นอีกระดับ และเกิดมุมมองการใช้ชีวิตที่มีความหมายมากขึ้น 

คีย์เวิร์ดสำคัญในกลไกที่ว่าคือ ‘การปรับตัว’ เพื่อต่อสู้กับภาวะวิกฤติ ทำให้เกิดกระบวนการที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ทางบวกในการพัฒนาตนเองของคนคนนั้น ซึ่งตามการศึกษาของ Calhoun และ Tedeschi ผลลัพธ์ทางบวกจะสังเกตได้ผ่านการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านใหญ่ๆ คือ มุมมองการรับรู้ตนเองที่เปลี่ยนไป (รับรู้ความเข้มแข็งในตัวเองมากขึ้น มองเห็นโอกาสจากเหตุการณ์ที่มากระทบ) สัมพันธภาพต่อผู้อื่นที่เปลี่ยนไป (มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและใกล้ชิดเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น) และปรัชญาการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป (รู้สึกชื่นชมยินดีในชีวิตและสิ่งที่มีอยู่มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเติบโตทางจิตวิญญาณ) 

มาลองเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นกัน สำหรับผู้เขียนจะนึกถึงช่วงที่สูญเสียความสัมพันธ์คนรักที่สำคัญมากกับชีวิต และลาออกจากงานในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้รู้สึกสูญเสียพื้นที่สำคัญในชีวิต สิ่งที่เคยเชื่อมั่นว่าเป็นเข็มทิศสั่นคลอนและพังลง ความเจ็บปวดที่เกิดจากมุมมองว่าตนเองไร้ค่าเรียกร้องให้ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อผ่านช่วงเวลายากเย็นนั้นไปให้ได้ จากที่เคยผูกโยงคุณค่าตนเองกับความสัมพันธ์ภายนอกก็กลับมารักและยอมรับตัวเองมากขึ้น รู้สึกขอบคุณความสัมพันธ์ในชีวิตในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น เกิดความเชื่อมั่นใหม่ๆ ว่าแม้จะเจ็บปวดมากก็ยังค่อยๆ ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่องความสัมพันธ์ มองว่าความสูญเสียและการปล่อยมือจากสิ่งที่เคยรักคือโอกาสให้เราได้คัดกรองผู้คนและเส้นทางที่เหมาะสมกับชีวิตใหม่อีกครั้ง เหล่านี้คือตัวอย่างของความงอกงามในการรับรู้ของผู้เขียน ซึ่งความงอกงามของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องหน้าตาเหมือนกันหรือต้องเกิดครบในทุกมิติที่กล่าวไป 

Tedeschi อธิบายไว้ว่าความงอกงามนี้เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการทางจิตวิทยาเสมอไป แต่ยังมีองค์ประกอบที่ช่วยเอื้อให้เกิด 5 อย่างด้วยกัน องค์ประกอบอย่างแรกคือการเรียนรู้ (Education) ที่หมายถึงการรื้อสร้างระบบความเชื่อเก่าๆ และเรียนรู้ความจริงในปัจจุบันเสียใหม่ ยอมรับข้อจำกัดบางอย่างที่เกิดกับตนเองแล้วมองหาสิ่งที่ยังลงมือทำได้ เช่น ยอมรับว่าการใช้ชีวิตต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิมจากปัจจัยบางอย่าง แต่เรายังปรับวิธีการใช้ชีวิตใหม่ได้ เราไม่ได้มาถึงทางตันจากเหตุไม่คาดฝันที่เกิดกับเรา 

อย่างที่สองคือการดูแลกำกับอารมณ์ (Emotional regulation) ที่หมายถึงการรู้จักวิธีดูแลความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้น มีการปรับมุมมองความคิดที่ช่วยให้ไม่นำไปสู่การจมกับความรู้สึกลบๆ ไม่จดจ้องแต่ความล้มเหลวหรือความสูญเสีย เช่น รู้จักสังเกตและรับรู้ว่ามีความคิดที่ตำหนิติเตียนตัวเองจนทำให้รู้สึกหดหู่ แล้วปรับคำพูดหรือแนวคิดต่อตนเองเสียใหม่ว่าฉันไม่ใช่คนที่ไร้ค่า ฉันมีคุณค่าและยังเป็นที่รัก

องค์ประกอบอย่างที่สามคือการได้เปิดเผยเรื่องราว (Disclose) ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเราและผลกระทบของมันมีอะไรบ้าง องค์ประกอบนี้จะช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจและเมกเซนส์กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านการสะท้อนประสบการณ์ของตัวเอง เช่นการได้พูดคุยจากส่วนลึกกับผู้คนที่เราไว้ใจ การตัดสินใจระบายกับคนที่จะช่วยเหลือเราได้ 

องค์ประกอบอย่างที่สี่คือการสร้างเส้นเรื่องของชีวิต (Narrative Development) ซึ่งหมายถึงการยอมรับเหตุการณ์ที่เจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวชีวิตและมองเห็นความหมายในชีวิตบทใหม่ที่จะก้าวต่อไป เช่น มองว่าความสูญเสียเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้เราได้ปรับเปลี่ยนนิสัย เพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำในอนาคต และมองเห็นสิ่งที่มีความหมายในชีวิตได้มากกว่าที่เคย ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายคือ การลงมือช่วยเหลือผู้อื่น (Service) ที่อาจประสบเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน 

พอนึกสะท้อนดูโดยส่วนตัว ความงอกงามที่เกิดขึ้นได้ก็มาจากโอกาสที่เราจะเปิดกว้างให้ตัวเองได้เรียนรู้ โดยเริ่มจากการได้บอกเล่าทำความเข้าใจกับตัวเอง กับผู้อื่น รวมถึงการเปิดโลกออกไปรับฟังเรื่องราวของคนรอบข้างเช่นกัน จึงได้เห็นว่าความไม่แน่นอนของชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนล้วนผ่านทั้งความสุขและความทุกข์ในแบบของตนเอง แต่สิ่งดีคือเรายังมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ และเรียนรู้วิธีรับมือใหม่ๆ ได้ เมื่อได้มีโอกาสนำประสบการณ์ไปช่วยให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความอุ่นใจนี้เช่นเดียวกัน ก็รู้สึกว่าทุกเหตุการณ์ล้วนมีบทบาท และความหมายที่ก่อร่างให้ชีวิตเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประโยคสำคัญที่ Tedeschi ระบุไว้คือ “ความเจริญงอกงามไม่สามารถถูกกดดันให้สร้างขึ้น และไม่สามารถเร่งให้เกิดได้” (Growth can’t be forced, and it can’t be rushed.) ผู้เขียนอยากเน้นในจุดนี้ว่าหากยังไม่สามารถรับรู้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่เข้ามาหาเราจะช่วยให้เกิดการเติบโตอะไรได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกผิด หรือรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว เพราะกระบวนทางจิตใจเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและหลายปัจจัย 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ กระบวนการของความงอกงามนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับปัจจัยภายในของบุคคล แต่ยังขึ้นกับปัจจัยภายนอกอย่างปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย งานวิจัยที่ศึกษาความงอกงามภายในหลังเหตุการณ์สะเทือนใจในกลุ่มผู้หญิงอิหร่าน 210 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมพบว่า ความพึงพอใจต่อปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับความงอกงามที่เกิดขึ้น แปลว่าบุคคลที่มีพื้นฐานการใช้ชีวิตที่ดี มีความพร้อมที่จะเลือกวิธีรับมือปัญหาที่มีคุณภาพ มีสิทธิในการตัดสินใจ มีการเชื่อมโยงกับครอบครัว ย่อมสามารถเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงได้ดีกว่าและรู้สึกว่าสามารถจัดการชีวิตได้ ส่วนการศึกษาระยะยาวอีกชิ้นในกลุ่มผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 653 คน ก็พบว่าระดับความงอกงามภายในเชื่อมโยงกับระดับการศึกษา และการสนับสนุนจากเครือข่ายสังคม (social support) 

ตัวอย่างที่ยกมานี้บ่งบอกว่า การที่ใครคนหนึ่งจะเติบโตทางจิตใจ และจิตวิญญาณกันได้หลังผ่านวิกฤติ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้บุคคลตระหนักและสามารถเข้าถึงทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกเมื่อต้องรับมือปัญหา เช่นช่วยให้มีมุมมองต่อชีวิตที่ช่วยให้ปรับตัวได้ดี มีศักยภาพรับมือได้ดีกว่า ผู้เขียนอยากชูประเด็นนี้เพื่อให้เราร่วมเข้าใจว่า หากเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ประสบปัญหาและไม่มีทางเลือก เช่น ไม่มีเงินสำหรับตั้งรับสถานการณ์ หรือรักษาตัว ไม่มีความรู้หรือช่องทางเข้าถึงแหล่งให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะให้เรามองเห็นว่าวิกฤตินำมาซึ่งการเติบโต สายรุ้งสวยงามหลังพายุผ่านพ้นอาจไม่มีอยู่จริง หากเราไม่ได้ร่วมตระหนักว่าสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องที่สังคมและภาครัฐต้องช่วยกันสนับสนุนด้วย  

อย่างน้อยที่สุดในระดับวงสังคมของเราเอง หากคุณเป็นอีกคนที่จะมีบทบาทช่วยเหลือให้คนข้างกายเกิดความงอกงามภายใน ลองทำตามคำแนะนำของ Tedeschi ที่เชียร์ให้เราลองถามคำถามและมอบพื้นที่ให้อีกฝ่ายได้สะท้อนความรู้สึกจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น รับฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจโดยไม่ตัดสิน และอย่าลืมตอบรับด้วยความเมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจเป็นที่ตั้ง (compassionate) เพียงเท่านี้เราก็เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีในวันร้ายๆ ของอีกฝ่ายได้มากขึ้นแล้ว 


อ้างอิง 

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60083 https://hbr.org/2020/07/growth-after-trauma

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35682111/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34018030/



Author

KANTAPORN SUENSILPONG

นักเขียน นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE

Related Stories

Post-traumatic growth  กับ 5 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราสามารถ เจริญงอกงามหลังผ่านเรื่องร้ายแรงในชีวิต

wellness

Post-traumatic growth กับ 5 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราสามารถ เจริญงอกงามหลังผ่านเรื่องร้ายแรงในชีวิต

MIRROR'sGuide