LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

ทำไมทรงผม braid hair ถึงเป็นปัญหา ถ้าไม่ได้อยู่บนหัวของคนเชื้อสายแอฟริกัน

Cultural Appropriation หรือเรียกสั้นๆ ว่า CA เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมานานในโลกของป๊อปคัลเจอร์ มันคือข้อโจมตีไปยังการหยิบฉวยเอาวัฒนธรรมของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง (โดยเฉพาะที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลอยู่ในนั้น) มาใช้เพียงเพื่อความ ‘เก๋’ โดยที่ไม่ได้ทำความเข้าใจหรือให้ความเคารพวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างที่ควรจะเป็น

งานในป๊อปคัลเจอร์หลายต่อหลายชิ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น Cultural Appropriation และหัวข้อหนึ่งที่เราเจอบ่อยสุดคือการที่คนซึ่งไม่ได้มีเชื้อสายแอฟริกันทำผมทรง braid หรือผมถักสไตล์แอฟริกัน โดยเฉพาะการถักแบบ box braids และ cornrows ที่เป็นที่นิยมมาก 

ลิซ่า Blackpink เป็นอีกคนที่เพิ่งถูกโจมตีจากทรงผมถักแบบ box braids ของเธอในเอ็มวีเพลง Money มีหลายเสียงทักท้วงว่าทรงผมของเธอเข้าข่าย CA ซึ่งทำให้ลิซ่าเองตัดสินใจขยายเวลาแฟนไซน์หรือการพูดคุยกับแฟนๆ ทางออนไลน์ เพื่อให้แฟนเพลงได้เข้ามาเอดูเขตเธอเรื่องนี้โดยเฉพาะ 

ขณะที่แฟชั่นโชว์ Savage X Fenty ของนักร้องสาวริฮานนาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน เมื่อนางแบบหลายคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายแอฟริกันอย่างเช่น เอมิลี ราทาจโควสกี้ (Emily Ratajkowski) ทำผมทรง box braids ขึ้นเดินบนรันเวย์ เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงอย่างหนักเนื่องจากริฮานนาเองมีเชื้อสายแอฟริกัน แต่กลับมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในโชว์ของแบรนด์ที่เธอก่อตั้ง

ทำไม braid hair ถึงเป็นปัญหา?

ทรงผมถักนี้อยู่ในวัฒนธรรมแอฟริกันมากว่า 3,500 ปี โดยการถักผมแต่ละแบบจะเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า และมีหน้าที่บ่งบอกชนชั้น/สถานะหน้าที่ของคนในเผ่านั้นๆ รูปแบบการถักถูกออกแบบมาอย่างประณีต และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น โดยเฉพาะจากแม่สู่ลูก 

จนเมื่อศตวรรษที่ 15 มาถึง คนขาวเริ่มเข้าไปบุกแอฟริกาและจับพวกเขามาขายเป็นทาส ทรงผมเหล่านี้ก็ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามเอาตัวรอด 

ลอริ แอล ธาปส์ (Lori L. Tharps) นักวิชาการเชื้อสายแอฟริกัน จากมหาวิทยาลัยเทมเพิล (Temple University) สหรัฐฯ ระบุว่าชาวแอฟริกันบางส่วนเก็บเมล็ดพันธ์ุต่างๆ ไว้ในผมถักหลากรูปแบบ เพราะเมื่อถูกจับไปอยู่บนเรือทาสอันแออัดจะได้พอมีอาหารประทังชีวิต เมื่อมาอยู่บนแผ่นดินอเมริกาหรือยุโรปแล้ว ชาวแอฟริกันที่วางแผนหลบหนี ก็ยังใช้ผมถักเป็นโค้ดลับในการสื่อสาร เช่นว่าต้องวิ่งผ่านถนนไปกี่เส้นถึงจะเจอเส้นทางปลอดภัย 

เมื่อเวลาผ่านไป ผมหยิกและการถักผมแบบชาวแอฟริกันกลับกลายเป็นภาพลักษณ์ของ ‘ความไม่แพง’ หรือว่าง่ายๆ ก็คือเป็นทรงผมของพวกทาส จนหญิงเชื้อสายแอฟริกันหลายคนพยายามทำให้ตัวเองมีผมตรงสลวยเพื่อหลบออกจากภาพนั้น สถานการณ์เริ่มดีขึ้นในช่วงปี 1960s ที่คนเชื้อสายแอฟริกันพยายามต่อสู้เพื่อยืนยันความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แต่ภาพจำแย่ๆ ก็ใช่ว่าจะหมดไป หลายครั้งที่พนักงานเชื้อสายแอฟริกันในปลายศตวรรษที่ 20 หรือกระทั่งต้นศตวรรษที่ 21 ก็ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำผมทรงนี้เพราะมันดูไม่เป็นทางการ 

ขณะเดียวกัน ทรงผมถักนี้ก็เลยมีภาพของความ ‘ขบถ’ ไปโดยปริยาย และความขบถนี้เองที่กลายเป็นดูเท่และเป็นสิ่งที่โลกแฟชั่นและป๊อปคัลเจอร์หลงรัก

มาถึงจุดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรารับเอาความรู้เรื่อง CA มาจากอเมริกาซึ่งเป็นต้นทางของการถกเถียงเรื่องนี้โดยตรง เนื่องจากประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำในอเมริกานั้นฝังรากลึก ความเป็นอยู่และตัวตนของคนผิวดำในอเมริกาก็ล้วนแต่ถูกกดขี่ จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นประเด็นอย่างที่ปรากฏใน #BlackLivesMatter การพูดเรื่อง Cultural Appropriation ที่มีคนขาวเป็นผู้ก่อเหตุจึงยังคง valid อยู่

แต่หลายครั้ง ในหลายบริบท มันถูกหยิบมาใช้เป็นไม้บรรทัดอย่างทื่อๆ จนเกิดคำถามต่อว่า มันทำให้บางวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้จนเกินไปหรือไม่ 

อย่างกรณีของ braid hair นี้ คนเชื้อสายแอฟริกันแต่ละคนก็ไม่ได้คิดตรงกันทั้งหมด  

มีทั้งคนเชื้อสายแอฟริกันที่ยืนยันว่ารับไม่ได้ เมื่อสิ่งนี้ถูกนำไปใช้โดยเชื้อชาติอื่น เช่น แคลร์ เดทริกค์-จูลส์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง My Beautiful Black Hair บอกกับ The Guardian ว่าปัญหาของมันคือผู้หญิงผิวขาวไม่เข้าใจว่าทรงผมถักนี้เคยกลายเป็นบาดแผลของผู้หญิงผิวดำอย่างไรบ้าง เนื่องจากการศึกษาในอเมริกามองข้ามเรื่องนี้ และ เดทริกค์-จูลส์ ยืนยันว่าทรงผมของคนผิวดำไม่ใช่แฟชั่น แต่คือประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงควรได้รับความเคารพ

ขณะที่คนเชื้อสายแอฟริกันบางคนมองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หากมาพร้อมความเข้าใจ เช่นบล็อกเกอร์ชื่อ Kiana Thipton ที่มองว่าคนชนชาติอื่นๆ สามารถทำทรงผมนี้ได้ ถ้าใครคนนั้นเข้าใจประวัติศาสตร์ของมัน และพร้อมจะส่งเสียงเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างเชื้อชาติ 

ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ความเคารพและความเข้าใจที่มีต่อทรงผมทรงนี้ ดังนั้นจึงอาจยังต้องมีการสื่อสารถึงความเข้าใจและความจริงใจ ที่มาพร้อมกับการนำเสนอผมทรงนี้บนหัวของใครต่อใครที่ไม่ได้มีเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่าในยุคสมัยนี้แล้ว คงไม่ใช่ทุกคน ที่จะยังคงติดกับดักของภาพลักษณ์และหยิบอะไรต่อมิอะไรมาใช้อย่างมั่วๆ ซั่วๆ และคงจะถึงวันที่บาดแผลทางเชื้อชาติจะได้รับการเยียวยา จนทำให้แต่ละวัฒนธรรมสามารถถูกนำไปต่อยอดอย่างเข้าอกเข้าใจได้มากขึ้นสักที

อ้างอิง:

https://www.allkpop.com/article/2021/09/lisa-extends-fansign-to-educate-herself-about-cultural-appropriation-in-money-performance-video-and-apologizes 

https://www.theguardian.com/fashion/2021/sep/28/for-us-black-hair-is-black-history-rihannas-fashion-show-sparks-row-for-styling-white-models-hair-in-braids

https://www.essence.com/hair/respect-our-roots-brief-history-our-braids-cultural-appropriation/ 

https://www.naturallycurly.com/curlreading/authors/ktippyy 

Author

SERENE

นักเขียนคนหนึ่ง

Related Stories

ทำไมทรงผม braid hair ถึงเป็นปัญหา ถ้าไม่ได้อยู่บนหัวของคนเชื้อสายแอฟริกัน

culture

ทำไมทรงผม braid hair ถึงเป็นปัญหา ถ้าไม่ได้อยู่บนหัวของคนเชื้อสายแอฟริกัน

BY SERENE 30 SEP 2021

MIRROR'sGuide