ด้วยความปังของหนังเรื่อง Gangubai ทำให้คนดังหลายคนพากันออกมาโคฟเวอร์เป็นตัวละครหลักอย่าง ‘คังคุไบ’ แต่ขณะเดียวกันในบรรดาคนเหล่านั้นกลับแทบไม่มีใครแตะประเด็นสำคัญของหนังอย่างการผลักดันให้อาชีพค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งถูกกฎหมายเลย
ทั้งที่ในชีวิตจริง ขณะที่หลายคนอยู่สบาย แต่งตัวเป็นคังคุไบสวยๆ หลายคนยังต้องถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีเพียงเพราะเลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หลายคนยังต้องถูกกดขี่เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ การบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ผ่านหนังจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทั้งสวยงามและทรงพลังในเวลาเดียวกัน ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งที่มีคนโฟกัสแค่ความงามของหนังกันเสียอย่างนั้น
หลายคนตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์นี้ อย่างเช่นเพจ ‘บอก ๙ เล่า ๑๐ หยิกกีย์ ๑๑’ ที่พาดหัวว่า “แห่แต่งเป็นคังคุไบ แต่เคลื่อนไหวเพื่อ Sex Workers เป็น 0” ในโพสต์ https://www.facebook.com/100080656983160/posts/120311477334085/ ที่มีคนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลาม คนจำนวนมากเห็นด้วยและมองว่าการโคฟเวอร์เป็นตัวละครหนังในครั้งนี้ แต่เพิกเฉยประเด็นสังคมนั้นย้อนแย้งสิ้นดี แต่ก็กลับมีชาวเน็ตอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่าเรื่องนี้ “ควรแยกแยะ”
ตัวอย่างคอมเมนต์ที่น่าพูดถึงก็เช่นคอมเมนต์ในทำนองที่ว่า การแต่งตัวก็คือการแต่งตัว เป็นคนละเรื่องกับการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งเราเห็นคอมเมนต์ทำนองนี้มาเสมอ ในหลายๆ เรื่อง หลายๆ ดราม่า เป็นความคิดเห็นทำนองเดียวกับที่บอกว่า การใช้ชีวิตในแต่ละด้านนั้นไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่นำไปสู่สิ่งใดนอกจากการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่เรียกร้อง ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และมองไม่เห็นปัญหาว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราทนอยู่กับมันนั้นเน่าและล้มเหลวแค่ไหน
หากจะว่ากันเฉพาะประเด็นของ Sex Workers จากหนังเรื่องคังคุไบ ใช่—ที่ว่าด้านหนึ่งนั้นหนังได้ฉายภาพที่สวยงามให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา เสื้อผ้าที่สวมใส่ และสภาพชีวิตของตัวละครตามสไตล์บอลลีวูด แต่หนังก็ไม่ได้ละเลยที่จะชูประเด็นการเรียกร้องให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองในฐานะพลเมืองของประเทศ ไม่ให้พวกเธอต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเอารัดเอาเปรียบจากสังคมรอบข้าง
ความน่าสนใจของคังคุไบคือการเรียกร้องของเธอ ไม่ใช่แค่ความสวย หรือการแต่งกายของเธอ และการที่คนเลือกที่จะโฟกัสแค่ความสวยของตัวละคร จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนชัดเจนว่าสังคมไทยยังคงสนใจแต่เปลือกนอกอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ นอกจากนี้ยังสนใจเฉพาะความสุขและศีลธรรมในแบบของตัวเอง เปลือกนอกที่สวยกลายเป็นสิ่งประโลมใจให้หลายคนคิดว่าชีวิตนี้โอเคแล้ว สิ่งที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้แย่เกินไป แค่พอมีสิ่งสวยๆ งามๆ ให้ได้ดู ได้แต่งตัวตามก็พอ
แต่คำถามคือ มันพอจริงหรือ? ถ้าหากพอ คังคุไบตัวจริงคงไม่ต้องเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 1960 คนอีกจำนวนมากคงไม่ต้องต่อสู้กันมาจนถึงทุกวันนี้ และการบอกให้แยกแยะระหว่างความสวยความงาม กับความเรียกร้องสิทธิของมนุษย์ แถมยังกล่าวโทษคนที่มองเห็นปัญหาว่าดราม่าไม่เข้าเรื่องนั้น ก็รังจะทำให้การต่อสู้ยิ่งยืดเยื้อออกไป และไม่เกิดความก้าวหน้าสักทีนั่นแหละ