เวลาที่ความสัมพันธ์ของคู่รักพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่มาพร้อมกันก็คือภาระหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องอะไรที่มันใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน มีลูก ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อทรัพย์สินต่างๆ หรือลงทุนทำธุรกิจด้วยกัน ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ คำถามแรกที่เลี่ยงไม่ได้เลยคือ แล้ว ‘สถานะทางการเงิน’ ของแต่ละฝ่ายล่ะ พร้อมแค่ไหนกัน
แต่พอเป็นเรื่องเงิน หลายคนอาจมองว่าน่ากระอักกระอ่วนเกินไปที่จะเปิดประเด็น ใครจะเริ่มก่อน เริ่มตรงไหน เขาจะมองเราไม่ดี จะเก็บไปคิดมากหรือเปล่า ฯลฯ
พูดมาถึงตรงนี้ เราไม่ปฏิเสธว่าความรู้สึกลำบากใจเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อผลสำรวจจาก Experian องค์กรที่วิเคราะห์ข้อมูลการใช้บัตรเครดิตในอังกฤษพบว่า กว่าครึ่งของความขัดแย้งในความสัมพันธ์มักจะมีสาเหตุมาจากปัญหาทางการเงิน นี่จึงเป็นสิ่งช่วยยืนยันว่า ‘เรื่องเงิน’ คือเรื่องใหญ่ในความสัมพันธ์ที่ไม่คุยกันไม่ได้
แน่ล่ะ การที่ใครสักคนจะเปิดบทสนทนาเรื่องเงินเดือน หรือหนี้สินระหว่างดื่มด่ำดินเนอร์แสนโรแมนติกก็อาจทำให้รู้สึกเหมือนช็อตฟีลไปบ้าง แต่การเปิดใจถึงสถานภาพทางการเงินของแต่ละฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาและเป็นไปด้วยความ ‘ซื่อสัตย์’ นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยให้ความสัมพันธ์ของคู่รักไปต่อได้อย่างราบรื่น ยั่งยืน และ Healthy ในระยะยาว เพราะไม่ต้องมีใครมานั่งลุ้นหรือคอยรับมือกับเรื่อง ‘ช็อก’ ที่จะตามมาในอนาคต
และนี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำว่าคู่รักควรรู้ ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกขั้น
รายได้เท่าไร ไม่ใช่ความลับ
เรามักจะได้ยินหรือถูกปลูกฝังกันมาตลอดว่าเรื่องรายได้ เป็นเรื่องที่ต้องปิดบัง จะบอกให้ใครรู้ไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อคู่รักตัดสินใจพัฒนาความสัมพันธ์ไปด้วยกัน เรื่องรายได้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ต่างฝ่ายควรรู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา
เพราะไม่เพียงแค่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แต่ยังทำให้ต่างฝ่ายต่างประเมินสถานการณ์ทางการเงินของอีกฝ่ายในภาพกว้างได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการไปกิน ไปเที่ยว ควรตั้งงบไว้เท่าไร ใครจ่ายไหวแค่ไหน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างกรณีที่ต้องลงทุนอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องดีกว่าถ้าสุดท้ายแล้วไม่ต้องมีใครมานั่งคิดมากเรื่องใครจ่ายมากกว่าใคร ทำไมเธอออกแค่นั้น แล้วทำไมฉันต้องจ่ายเท่านี้ แบบนั้นน่าอึดอัดและกระอักกระอ่วนกว่าการถามรายได้ของกันและกันไปตรงๆ เยอะเลย
มีหนี้สินอะไรให้ต้องกังวลไหม
อีกหลักไมล์หนึ่งของความสัมพันธ์บางครั้งก็อาจหมายถึงการใช้กระเป๋าเงินร่วมกันด้วย แต่หลายครั้งอุปสรรคมักมาในรูปแบบของ ‘หนี้’ ส่วนตัวของแต่ละคนที่มีอยู่เดิม
การบอกอีกฝ่ายถึงเรื่องหนี้สินต่างๆ ของตัวเองจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งรู้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพื่อให้รู้ว่าถ้าตัดสินใจจะใช้กระเป๋าเงินเดียวกันแล้ว มีรายจ่ายอะไรบ้างที่ต่างฝ่ายต้องรับมือ แล้วจะวางแผนจัดการกับหนี้ก้อนนั้น รวมถึงรายจ่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตได้อย่างไรให้บาลานซ์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไม่กระทบต่อครอบครัวในระยะยาว
เป็นนักออมเงิน หรือนักใช้เงิน
ต้องบอกก่อนว่าเรื่องการออมเงินนั้นไม่มีถูกมีผิด เพราะแต่ละคนก็มีทัศนคติและวิธีการใช้ชีวิตต่างกันไป บางคนเชื่อเรื่องการเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณ บางคนเก็บไว้ใช้ในเป้าหมายใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ผิดเช่นกันถ้าหากบางคนเลือกที่จะอยู่เพื่อวันนี้ แล้วใช้ชีวิตให้เต็มที่กับปัจจุบัน
คำถามถึงการออมเงินสำคัญตรงที่มันทำให้รู้ว่าคู่ของเรามีไลฟ์สไตล์เรื่องการเงินอย่างไร เป็นนักใช้เงินเพื่อความสุขในวันนี้ หรือเป็นนักออมเงินเพื่อใช้ในวันหน้า ซึ่งเป็นเรื่องดีถ้าหากว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายมีไลฟ์สไตล์ตรงกัน เช่น ชอบเก็บออมก็จะได้วางแผนการออมไปด้วยกัน หรือหากเป็นนักใช้เงิน ก็จะได้มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายให้มีความสุข แค่ลองคุยกันให้เคลียร์ แล้วเลือกฟังก์ชันที่เหมาะกับทุกคน
เป้าหมายการใช้เงินคืออะไร สิ่งไหนสำคัญที่สุด
ลำดับความสำคัญของการใช้เงินที่ต่างกันมักจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งของคู่รัก เช่น ฝ่ายหนึ่งต้องการใช้เงินเพื่อนดาวน์รถใหม่สักคัน แต่อีกฝ่ายกลับต้องการวางแผนเก็บเงินเพื่อมีลูก จึงเป็นเรื่องดีกว่าหากก่อนอื่นค่อยๆ กลับมาทบทวนความต้องการ ความฝัน ไปจนถึงเป้าหมายว่าต่างฝ่ายต้องการอะไรในชีวิตเป็นอันดับแรก และอันดับต่อๆ มาคืออะไร เพื่อเป็นการรีเช็กว่าทั้งคู่กำลังเข้าใจตรงกันหรือไม่ แล้วจะจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินเพื่อเป้าหมายนั้นอย่างไร
ประวัติ Credit Score ดีพอหรือเปล่า
Credit Score หรือคะแนนเครดิต คือสิ่งที่ธนาคารจะใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของเจ้าของบัตร เพื่อดูว่าพฤติกรรมการบริหารจัดการบัตรเครดิตว่าโอเคหรือเปล่า ชำระหนี้ตรงเวลา ชำระครบเต็มจำนวนไหม มีความสม่ำเสมอในการชำระหนี้หรือเปล่า โดยธนาคารจะใช้คะแนนเครดิตเหล่านี้ในการอนุมัติการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งใช้ในการพิจารณาการยื่นกู้ของเราด้วย
หลายคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ในความสัมพันธ์กำลังที่จะก้าวไปอีกขั้น ดีเทลเล็กๆ อย่างประวัติ Credit Score ของแต่ละฝ่ายเป็นเรื่องที่รู้ไว้ได้เปรียบกว่า เพราะมันสามารถมีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ก็ตามในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่ต้องบริหารการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตร่วมกัน อย่างเช่นการกู้ร่วม เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการบริหารจัดการเงิน และวินัยใช้จ่ายบัตรเครดิต ของอีกฝ่ายจะช่วยให้พอคาดคะเนได้ว่าการกู้ร่วมนั้นจะไปรอดหรือไม่รอดนั่นเอง
พื้นฐานการเงินของครอบครัวเป็นอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า พื้นฐานการปลูกฝังและพฤติกรรมการด้านการเงินของคนในครอบครัว ส่งผลถึงพฤติกรรมการใช้เงินของคนคนหนึ่งในอนาคตได้ไม่น้อยเลย อย่างเช่น คนที่โตมากับฐานะทางบ้านที่ดี ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย หรือคนที่โตมากับความล้มเหลวทางการเงินของครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินของคนคนนั้นให้แตกต่างกันออกไป การเปิดเผยประสบการณ์ทางการเงินของครอบครัวระหว่างคู่รักด้วยการไม่ปิดบัง ไม่ได้เป็นการตัดสิน แต่เป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายรู้ที่มาของพฤติกรรมการใช้เงินของแต่ละคนในปัจจุบัน แถมบทเรียนจากประสบการณ์ในครอบครัว ยังอาจช่วยให้สามารถวางแผนไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางการเงินซ้ำรอยได้
อ้างอิง
https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/loan/borrowing/how-credit-scoring-matter
Author