LadyMirror รู้ทุกเรื่องของผู้หญิง | แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บิวตี้ ความงาม และอื่นๆ

ชวนอ่านทฤษฎี Emotional Contagion เมื่ออารมณ์ความรู้สึกแพร่ระบาดถึงกันได้ และ ‘อารมณ์ด้านบวก’ ก็แพร่ง่ายกว่าด้านลบ

เคยเป็นกันไหม? แม้วันนั้นจะเป็นวันที่อึมครึมในความรู้สึก แต่พอเจอรอยยิ้มจากคนไม่รู้จักอย่างพนักงานส่งของ หรือได้อ่านการ์ดใบเล็กที่ตั้งใจเขียนขอบคุณด้วยลายมือแนบมากับสินค้า ถึงไม่มีมาตรวัดก็รับรู้ได้ว่าอารมณ์ของตัวเองเปลี่ยนไปเมื่อมีสิ่งเข้ามากระทบ ไม่ต่างจากวันที่ตัวเองยิ้มแย้มดี แต่พอคนใกล้ตัวเข้ามาในพื้นที่พร้อมความหงุดหงิด อารมณ์ของเราก็เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในคำอธิบายปรากฏการณ์นี้ที่ผู้เขียนสนใจคือทฤษฎี Emotional Contagion ที่มีชื่อภาษาไทยแบบทางการว่า ‘การแพร่ระบาดทางอารมณ์’

Emotional Contagion หมายถึงปรากฏการณ์ที่เรารับเอาอารมณ์ของอีกบุคคลหนึ่งเข้ามาเป็นอารมณ์ของตัวเองโดยธรรมชาติ มีคำอธิบายว่ากลไกนี้เริ่มต้นจากการที่เราจำลองการแสดงออกทางอารมณ์ของคนตรงหน้าโดยไม่รู้ตัว เช่น สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง จนเราเริ่มเกิดความรู้สึกนั้นขึ้นมาภายในตัวเราเอง ถ้ามีใครยิ้มให้เรา ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของเราคือจะยิ้มกลับไปให้เพื่อจูนการแสดงความรู้สึกให้ตรงกัน นี่คือสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จะจูนตัวเองเข้ากับอารมณ์รับรู้ในการปฏิสัมพันธ์เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม 

แต่การศึกษาในปัจจุบันพบแล้วว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไปจนถึงสื่อต่างๆ เพราะฉะนั้นเวลาดูหนังฟังเพลงแล้ว ‘อิน’ จนรู้สึกสดชื่น หรือดำดิ่งตามไปด้วย เรื่องนี้ก็มีคำอธิบายของมันอยู่ บางข้อมูลก็ทำให้ผู้เขียนเซอร์ไพรส์เล็กๆ เหมือนกัน เช่นว่าอารมณ์ที่แพร่เข้ามาส่งผลได้ถึงระดับร่างกายและระบบประสาทของเรา ถ้าฟังเพลงที่มีความสุข อารมณ์ในเพลงก็สามารถกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมมุมปากให้ยิ้มได้มากกว่าเพลงที่เศร้า

ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมบ้านเราเจอทั้งสถานการณ์โควิดและความท้าทายทางการเมือง รวมถึงความพังมากมายบนโลกใบนี้ พอเปิดสื่อโซเชียล คลื่นอารมณ์ความเคร่งเครียด โศกเศร้า โกรธเกรี้ยว วิตกกังวล ก็ไหลบ่าเข้ามาจนรู้สึกร่วมไปด้วยอยู่หลายครั้ง สไลด์ฟีดก็จะพบคนรอบตัวที่กำลังรู้สึกไปพร้อมกันแบบคล้ายคลึงกัน นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการแพร่ระบาดของอารมณ์ เพราะอารมณ์ของเราติดต่อกันได้แม้ไม่ได้พบปะกันแบบตัวเป็นๆ หรือไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันตรงๆ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบด้วยว่าเพศหญิงจะรับอารมณ์ติดต่อจากคนรอบข้างได้มากกว่าเพศชายเมื่ออยู่ในบริบทการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่กำลังมีปัญหา

ผู้เขียนชอบการเปรียบเปรยที่แบรนดอน สมิทธ์ (Brandon Smith) เคยกล่าวไว้บนเวที TEDxEmory ว่า “มันเหมือนการหาวที่เราจะหาวต่อกันเป็นทอดๆ แต่ความแตกต่างคืออารมณ์ที่เรารับมาไม่ได้จบลงเหมือนการหาว มันจะติดตัวเราไปในวันนั้นและวันต่อๆ ไป เราหอบหิ้วมันกลับไปที่บ้าน หอบหิ้วไปที่ทำงานในวันรุ่งขึ้น แล้วมันก็ติดต่อไปสู่คนต่อๆ ไป คล้ายการทำงานของไวรัส” ดังนั้นหากเราเข้าใจคอนเซปต์นี้ ประโยชน์อย่างแรกคือเราจะได้ ตระหนักและรู้วิธีป้องกันตัวเองเมื่ออารมณ์จากสิ่งรอบข้างเข้ามาปะทะจนทำให้เสียศูนย์ เพราะในการใช้ชีวิตหลายครั้งเรามักไม่ทันรู้ตัวว่ากำลังรู้สึกอะไร ไม่ทันได้หยุดค้นหาว่าต้นตอความรู้สึกนั้นมาจากไหน การฝึกรู้ตัวและคอยรีเช็กที่มาที่ไปของความรู้สึกที่เกิดจึงมีประโยชน์เสมอในทุกสถานการณ์ กระบวนการที่เรียบง่ายและมีพลังนี้จะช่วยให้เราดูแลตัวเองได้ทันท่วงที ไม่หลงทางในความรู้สึก (ที่เราไม่ได้ก่อ) อยู่นาน 

งานวิจัยของ Barsade เมื่อปี 2002 ที่ศึกษาผลกระทบของอารมณ์ที่แพร่ในระดับกลุ่มระบุไว้ชัดเจนว่า หากเรารับรู้ถึงอารมณ์ภายในโดยไม่ทันได้ตระหนักว่าได้รับการส่งต่ออารมณ์นั้นมาจากใคร เราจะรู้สึกเหมือนว่าต้นตอความรู้สึกนั้นมาจากตัวเราเอง เวลาอยู่ในกลุ่มร่วมกันแล้วมีใครสักคนส่งอารมณ์ลบออกมาแล้วในกลุ่มไม่ทันรู้ตัว มวลพลังงานในกลุ่มก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความหวาดหวั่น หงุดหงิด ท้อแท้ ไม่อินกับไอเดียสร้างสรรค์ที่คนในกลุ่มนำเสนอ จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในกลุ่มได้ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีการ ‘ติดเชื้อ’ เกิดขึ้น ผู้วิจัยเสนอว่าการที่คนในกลุ่มตระหนักรู้ว่า ‘มันมาแล้ว’ และระวังผลกระทบที่จะตามมาก็จะช่วยได้ในเบื้องต้น 

ผู้เขียนมองว่าการป้องกันตัวเองจากอารมณ์ทางลบที่คนรอบข้างส่งมาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่ต่างจากการดูแลร่างกายให้มีภูมิคุ้มกันและปลอดภัยจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หากเราดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานเพียงพอ ไม่เก็บกดทุกอารมณ์ไว้ภายใน คอยเอาออกมาแยกแยะทำความเข้าใจ เราก็จะรับมืออารมณ์ทางลบที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้มั่นคงขึ้น เหมือนร่างกายที่ไม่เจ็บป่วยง่ายเมื่อปะทะกับเชื้อต่างๆ และเมื่อเราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การกำหนดขอบเขต (boundary) ที่เราสบายใจก็ไม่ต่างจากตัวช่วยที่เราใช้ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อทางกาย เช่นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกไม่ไหวแล้วก็กล้าปฏิเสธ หรือเอ่ยขอเวลานอก รับรู้สิทธิว่าเราสามารถจำกัดการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทำให้เราปั่นป่วนในใจเป็นพิเศษ หรือเมื่อไหร่ที่รับสื่อจนอารมณ์สั่นคลอนก็ควบคุมตัวเองให้หยุดพักการรับสารได้ เป็นต้น  

ในยุคหนึ่งการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ของอารมณ์เคยระบุว่าอารมณ์ทางลบส่งผลได้มากกว่าอารมณ์ทางบวก ถ้าเปรียบเป็นไวรัส ไวรัสอารมณ์ทางลบก็ดูจะแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าและไวกว่า แต่ข่าวดีคือการศึกษาเพิ่มเติมในยุคหลังพบว่าอาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป บางการศึกษาก็พบว่าอารมณ์ทางบวกสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดทางอารมณ์มากกว่า ดังนั้นประโยชน์ถัดมาของการเข้าใจคอนเซปต์นี้คือการรู้อยู่เสมอว่าเราก็มีส่วนในการช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นในมวลรวมได้เช่นกัน ด้วยการหย่อนอารมณ์ที่ดี หรือความสงบลงในการปฏิสัมพันธ์ตรงหน้า 

ในมุมมองผู้เขียน ความเข้าใจว่าตัวเราเองก็มีส่วนสร้างผลกระทบทั้งทางบวกและลบในความสัมพันธ์ได้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางครั้งเราอาจคิดว่า ‘ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก’ จนทำให้หลีกเลี่ยงที่จะแสดงออก หรือไม่กล้าลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่แท้จริงแล้วเราต่างมีอิทธิพลต่อกันและกันอยู่เสมอไม่มากก็น้อย การขยับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆ อาจเป็นแรงกระเพื่อมช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้มากกว่าที่คิด แม้แต่ในบริบทการอพยพผู้คนในสถานการณ์วิกฤติที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายแตกตื่น ก็ยังมีงานวิจัยพยายามศึกษาว่าทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้ประโยชน์จากการแพร่อารมณ์ทางบวกช่วยให้ฝูงชนสงบให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการส่งต่ออารมณ์ทางบวกในบริบทชีวิตประจำวันอาจมีประโยชน์มากกว่าที่เราคาดก็ได้ 

ในการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ของอารมณ์ในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเมื่อปี 2008 โดย คิมุระ (Kimura) ไดโบะ (Daibo) และ โยโกะ (Yogo) พบว่าอารมณ์สุขทุกข์ของเราจะติดต่อกันได้ง่ายกับคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากกว่าคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ห่างออกไป นอกจากนี้ระดับอำนาจทางสังคม (social power) ก็มีส่วนเช่นกัน ใครที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าอีกฝ่าย เช่น เป็นรุ่นพี่ เป็นเจ้านาย ขอให้ระลึกไว้ว่าท่าทีของคุณอาจช่วยเปลี่ยนบรรยากาศและประคับประคองความรู้สึกคนที่อยู่ตรงหน้าได้มากกว่าที่คิด เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร รอยยิ้มที่จริงใจอาจเป็นตัวช่วยสามัญประจำบ้านที่ช่วยพลิกสถานการณ์ รวมถึงเสียงหัวเราะซึ่งเป็นการแพร่อารมณ์บวกที่ทำงานได้ดีกับคนทุกช่วงวัย ใครจะไปรู้ว่าการเล่นมุกเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้คนรอบตัวหัวเราะอาจทำให้ทั้งวันที่เหลือไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปก็ได้ 

ส่วนในยุคปัจจุบันที่เราไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน โพสต์ในโซเชียลมีเดียก็เป็นช่องทางหลักที่อารมณ์ของเราจะติดต่อกันได้ จากประสบการณ์ตรง ข้อความ หรือโพสต์ที่เราหย่อนทิ้งไว้ในพื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัวมีผลมากกว่าที่เราคิด ข้อความสั้นๆ อาจช่วยเติมพลังงานดีๆ ให้ยามเช้าหรือค่ำคืนของคนที่กำลังได้อ่าน แต่หมายเหตุไว้ว่าข้อความที่ระบุไม่ได้จำเป็นต้องแสดงพลังบวกเริงร่าเอเนอร์จี้ล้น บางครั้งแค่เป็นข้อความที่แสดงความเข้าอกเข้าใจหรือการอยู่ข้างๆ ตรงนั้นด้วยกัน แม้ไม่ได้พบหน้า แม้สถานการณ์จะยังไม่เป็นใจ ก็ช่วยโอบอุ้มความรู้สึกได้อย่างดีแล้ว


Author

KANTAPORN SUENSILPONG

นักเขียน นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE

Related Stories

ชวนอ่านทฤษฎี Emotional Contagion  เมื่ออารมณ์ความรู้สึกแพร่ระบาดถึงกันได้  และ ‘อารมณ์ด้านบวก’ ก็แพร่ง่ายกว่าด้านลบ

wellness

ชวนอ่านทฤษฎี Emotional Contagion เมื่ออารมณ์ความรู้สึกแพร่ระบาดถึงกันได้ และ ‘อารมณ์ด้านบวก’ ก็แพร่ง่ายกว่าด้านลบ

MIRROR'sGuide